กระทรวงศึกษาธิการกำหนดนโยบายและจุดเน้นเพื่อให้การบริหารจัดการศึกษามีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ วัตถุประสงค์ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและนโยบายของรัฐบาลเรื่องการเตรียมคนในศตวรรษที่๒๑ ในระดับประถมศึกษา มุ่งคำนึงถึงพหุปัญญาของผู้เรียนรายบุคคลที่หลากหลายตามศักยภาพโดยเฉพาะการเรียนภาษาไทย เน้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่นรวมถึงนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมให้นักเรียนระดับประถมศึกษาคิดเลขเป็น พร้อมกับสร้างเด็กให้เกิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รวมถึง
การคิดวิเคราะห์เพื่อให้แก้ปัญหาได้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒๕๖๒, หน้า ๑)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test : NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่๓ ทุกคนจากโรงเรียนในทุกสังกัด โดยประเมินความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน ๒ ด้าน คือความสามารถด้านภาษาไทยและความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งได้ระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายระดับนโยบายและระดับปฏิบัติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าประชุมระดมความคิดเพื่อกำหนดกรอบโครงสร้างและเครื่องมือประเมินคุณภาพผู้เรียนทั้ง ๒ ด้าน ซึ่งกรอบโครงสร้างนี้นอกจากจะใช้เพื่อการสร้างเครื่องมือประเมินคุณภาพผู้เรียนแล้วโรงเรียนยังสามารถใช้นิยามหรือและตัวชี้วัดที่ร่วมกันกำหนดขึ้นนี้ ไปวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการประเมินเพื่อรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาได้เป็นอย่างดี (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.๒๕๖๒, หน้า ๑)
ธอร์นไดค์ (Edward L. Thorndike.1874-1949) นักการศึกษาและจิตวิทยาชาวอเมริกาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีแห่งการเรียนรู้ เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ ที่เชื่อในเรื่องของทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) ธอร์นไดค์ ได้ศึกษาเรื่อง การเรียนรู้ของสัตว์
และต่อมาได้กลายมาเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ทั่วไปโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในนามทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในเรื่องนี้ นอกจากธอร์นไดค์จะได้ย้ำในเรื่องการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำแล้ว เขายังให้ความสำคัญของการให้รางวัลหรือการลงโทษ ความสำเร็จหรือความผิดหวังและความพอใจหรือความไม่พอใจแก่นักเรียนอย่างทัดเทียมกันด้วย ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์ เน้นที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus) กับการตอบสนอง (Response) ที่ชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มนุษย์หรือสัตว์ได้เลือกเอาปฏิกิริยาตอบสนองที่ถูกต้องนั้นมาเชื่อมต่อเข้ากับสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม หรือการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ โดยการสร้างสิ่งเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง เรียกทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ว่า ทฤษฎีเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับตอบสนอง (S-R Bond Theory) หรือทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionisms Theory) จากการทดลองและแนวความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ ดังกล่าวมาข้างต้น เขาได้เสนอกฎการเรียนรู้ที่สำคัญขึ้นมา 3 กฎ อันถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้นที่นำไปสู่เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสอนกฎทั้ง 3 ได้แก่
1. กฎแห่งการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำ (The Law of Exercise or Repetition) ชี้ให้เห็นว่า การกระทำซ้ำหรือการฝึกหัดนี้ หากได้ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะทำให้การกระทำนั้น ๆ ถูกต้องสมบูรณ์และมั่นคง
2. กฎแห่งผล (The Law of Effect) เป็นกฎที่มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจมากที่สุด ใจความสำคัญของกฎนี้ก็คือรางวัลหรือความสมหวัง จะช่วยส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้น
แต่การทำโทษหรือความผิดหวังจะลดอาการแสดงพฤติกรรมนั้นลง
3. กฎแห่งความพร้อม (The Law of Readiness) กฎนี้หมายถึงความพร้อมของร่างกาย ในอันที่จะแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกมา
จากการเป็นครูประจำชั้นและเป็นครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้ตระหนักเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงจัดทำนวัตกรรมเน้นทำซ้ำ นำเกิดผลแห่งความพร้อมคิด ยกระดับผลสัมฤทธิ์ พิชิต NT ด้วยรูปแบบ B^2DONSAI MODEL เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความพร้อมทางด้านจิตใจ ร่างกาย สังคม สติปัญญา ก่อนเข้ารับการประเมินผลสัมฤทธิ์ผลการประเมิน คุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน (National Test : NT)
ในปีการศึกษา 2566 ให้ผลสัมฤทธิ์ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเพื่อประกัน คุณภาพผู้เรียน (National Test : NT) โรงเรียนบ้านดอนทราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 มีคุณภาพสูงขึ้นตามเป้าหมาย