ความเป็นมาและความสำคัญ/แนวคิด
นโยบายการปฏิรูปการศึกษา ที่กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพคนไทยและการศึกษาไทยในอนาคต ประกอบกับมีนโยบายให้ปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกทุกระดับ การดำเนินงานของระบบงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทุกฝ่ายครูและบุคลากร จึงต้องมีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการปฏิบัติงานตามระบบประกันคุณภาพ โดยมีทัศนคติที่ถูกต้องว่างานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษามิใช่งานของผู้ใดผู้หนึ่งหรือเป็นหน้าที่ของครูประกันคุณภาพแต่เพียงผู้เดียว หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนเองโดยคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่ได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายของการพัฒนาไว้
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
-วัตถุประสงค์
๑. เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านน้ำพุ
๒. เพื่อส่งเสริมครูและบุคลากรของโรงเรียนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
-เป้าหมาย
เชิงปริมาณ
๑. ครูและบุคลากร ร้อยละ๑๐๐ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานและขับเคลื่อนงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
๒. ครูและบุคลากร ร้อยละ๑๐๐ ได้รับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับระบบงานประกันคุณภาพการศึกษา
๓. ครูและบุคลากร ร้อยละ๑๐๐ มีส่วนร่วมพัฒนาการบริหารการศึกษาการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
เชิงคุณภาพ
๑. โรงเรียนมีการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการ ยอมรับและความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองและชุมชน
๒. ครูและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาและตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง ที่มีผลต่อการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการประกันคุณภาพตามแนวทางที่สถานศึกษากำหนด
ปัจจัยความสำเร็จ
ปัจจัยที่ทำให้นวัตกรรม การบริหารจัดการของสถานศึกษาด้วยรูปแบบ BNP MODEL เพื่อการขับเคลื่อนระบบงานประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านน้ำพุ ได้ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและประสบผลสำเร็จ ดังนี้
๑. ครูและบุคลากรทุกคนมีการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับบุคคล และระดับ สถานศึกษา จัดทำรายงานการประเมินตนเอง
๒. ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษา มีการสนับสนุนให้บุคลากรเข้ารับการ อบรม เพื่อสร้างความรู้และตระหนักในบทบาทหน้าที่ ส่งเสริมให้มีการทำงานที่คล่องตัว รวดเร็ว และมี ประสิทธิภาพ
๓. ครูทุกคนให้ความสำคัญและความร่วมมือกับสถานศึกษาในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา