การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นผู้ลงมือกระทำการทดลองและฝึกคิดด้วยตนเอง การศึกษาวิทยาศาสตร์เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้คนไทยเป็นนักคิด มีความสามารถคิดวิเคราะห์หาเหตุผล และมีความตื่นตัวที่จะหาความรู้ ข้อเท็จจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสามารถที่จะนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมในชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ (รัตติยา รัตนอุดม : 2535: 57-58)
กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ กระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว โดยมีกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนประยุกต์ใช้ทักษะและเชื่อมโยงองค์ความรู้นำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีกระบวนการเรียนรู้โดยการอ่าน การเขียน การโต้ตอบและการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และการประเมิน (Bonwell & Eison, 1991) การประยุกต์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน จะทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับผู้เรียน จึงถือเป็นการจัดการเรียนการสอนประเภทหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า Active Learning คือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ และได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป และเป็นการจัดจกรรมการเรียนรู้ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน 2 ประการ คือ (1) การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์ และ (2) แต่ละบุคคลมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน (Meyers and Jones) โดยผู้เรียนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ (receive) ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ (co-creators)
การค้นคว้าและสืบค้นด้วยตนเองจะทำให้เกิดทักษะในการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในปัจจุบันหรือทักษะที่ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม(Learning and Innovation Skills) อันได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา การสื่อสารและการร่วมมือและทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) อันได้แก่ ความรู้ด้านสารสนเทศ ความรู้เกี่ยวกับสื่อ และความรู้ด้าน เทคโนโลยี (วิจารณ์ พานิชย์,2555) ความสนใจใฝ่รู้ ความมีเหตุผล คือคุณลักษณะหรือลักษณะนิสัยของบุคคลที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ จิตวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยผ่านกิจกรรมที่หลายหลาย
การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning: CL) เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็น ศูนย์กลางรูปแบบหนึ่ง การเรียนรู้แบบร่วมมือแบบ CL นี้เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันและมีการทำงานร่วมกัน เป็นทีมเล็กๆ ทีมละ2-5 คน โดยกำหนดให้สมาชิกของทีมต้องมีความสามารถที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้าง สมรรถภาพการเรียนรู้ของแต่ละคน และเพื่อที่จะทำให้สมาชิกแต่ละคนมีความสามารถมากยิ่งๆขึ้น สมาชิกแต่ ละคนจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ บทบาทของสมาชิกที่ทำงานด้วยกันในทีมมี หน้าที่สองอย่างด้วยกันคือ เป็นผู้เรียน- รับผิดชอบการเรียนของตนเองและ เป็นผู้สอน - รับผิดชอบการสอนและช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในทีมให้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน นักการศึกษาที่มีบทบาทที่สำคัญในการเผยแพร่แนวคิดของการเรียนรู้แบบ CL นี้คือ สลาวิน (Slavin, 1995) จอห์นสัน จอห์นสันและโฮลูเบค (Johnson, Johnson & Holubec :1990, 14) มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จุดมุ่งหมายของการเรียนแบบCooperative learning คือ การเรียนรู้แบบกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน แก้ไข ปัญหาและทำงานร่วมกันจนเกิดความสำเร็จ และประการสำคัญต้องมีกระบวนทักษะทางสังคมไปพร้อมๆกัน
จากการที่ผู้ศึกษาได้รับคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้สอนรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านดอยคำ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน พบปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ร้อยละ 55 กล่าวคือ จากรายงานผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านดอยคำ ในปีการศึกษา 2565 (งานวิชาการโรงเรียนบ้านดอยคำ, 2565 : 18) พบว่า คะแนนเฉลี่ยในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีผลคะแนนเฉลี่ย ดังนี้ หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 65.03 หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่องสิ่งมีชีวิตนักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 73.08 หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่องแรงและพลังงานนักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 70.56 หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่องวัสดุและสสารนักเรียนได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 50.23 และหน่วยการเรียนรู้ที่ 5 เรื่องโลกและอวกาศ นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 74.03 ซึ่งพบว่าหน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่องวัสดุและสสารได้ค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้จากการวิเคราะห์การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของผู้ศึกษาที่ผ่าน พบว่า กิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดขึ้น นักเรียนไม่สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้ ขาดความสามัคคี ขาดความร่วมมือในการทำกิจกรรมกลุ่ม นักเรียนที่เก่งจะทำได้ฝ่ายเดียว ทำงานเร็ว ส่วนนักเรียนที่เรียนรู้ได้ในระดับปานกลางและอ่อนไม่สามารถทำงานได้ ทำงานช้า ขาดความกระตือรือร้น ขาดความพยายามในการเรียนรู้ เมื่อนักเรียนเรียนในเนื้อหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นักเรียนที่เรียนรู้ได้ในระดับปานกลางและอ่อน จะแสดงพฤติกรรมความเบื่อหน่าย เนื่องจากไม่เข้าใจในเนื้อหาทำให้ไม่สามารถปัญหาทางวิทยาศาสตร์นั้นๆ ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่พัฒนาขึ้นในทิศทางเดียวกัน
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาจึงได้ทำการวิจัยชั้นเรียน เรื่อง กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบ 5E- cooperative Learning รายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง สถานะของสสารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านดอยคำ โดยผู้ศึกษาได้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E เน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำ ร่วมใจ) หรือรูปแบบ 5E- cooperative Learning มาใช้ในห้องเรียน เป็นการสร้างวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ขึ้นมา เป็นการกระตุ้นนักเรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาและเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ