บทคัดย่อ
หัวข้อ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model โดยบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับเทคนิคแผนผังความคิดเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางกันยา วิเศษรจนา
ปีการศึกษา 2566
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model 2) พัฒนาและประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model 3) ทดลองและใช้รูปแบบการจัดการเรียนการรู้ แบบ APMIE Model และ 4) ประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบ APMIE Model กลุ่มตัวอย่างแยกเป็น ผู้ให้ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ครูผู้สอนสังคมศึกษา 12 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนอนุบาลราชบุรี 12 คน ผู้ทดลองใช้รูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนอนุบาลราชบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ประเด็นสนทนากลุ่ม แบบสอบถาม แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถาม ความพึงพอใจ และแบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาค่าประสิทธิภาพ E1/E2 การทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน พบว่า การเรียนรู้เชิงรุกเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนได้คิดและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แสดงความคิดเห็นของตนเองตามความเข้าใจ ตลอดจนร่วมรับผิดชอบในผลของการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้นักเรียนแต่ละคนกระตือรือร้น คิดค้นหาความรู้ และคำตอบอยู่ตลอดเวลา ส่วนแผนผังความคิดเป็นเทคนิคการ จดบันทึก เพื่อนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างความคิดรวบยอดหลักและความคิดรวบยอดรองที่มีการโยงความสัมพันธ์เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ โดยการใช้ภาพ เส้น สี และการโยงใยเชื่อมโยงต่อข้อมูลหรือความคิดต่าง ๆ เข้าหากัน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเพิ่มความคงทนในการเรียนรู้ โดยนักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะทดลองเรียนด้วยกระบวนการเรียนแบบเชิงรุก เพราะเห็นว่าการเรียนรู้น่าจะสนุกมากกว่าการนั่งฟังบรรยายอย่างเดียว และมีกิจกรรมที่ท้าทายให้ปฏิบัติ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อน และเมื่อนำเทคนิคแผนผังความคิดเข้ามาร่วมในการจัดการเรียนรู้ด้วยก็สามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ได้ เนื่องจากในบางเนื้อหาเป็นนามธรรมยาก ต่อการเข้าใจ การสรุปเนื้อหาออกเป็นแผนผังความคิดทำให้เห็นภาพรวมของเนื้อหา และเป็นการย่อเนื้อหาให้ง่ายต่อการจดจำ จึงน่าสนใจ ตื่นเต้น และเข้าใจได้ง่าย ด้านครูและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้เห็นว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และเทคนิคแผนผังความคิด มีความเหมาะสม เห็นควรให้มีการดำเนินการได้
2. ผลการพัฒนาและประเมินคุณภาพเบื้องต้นของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model ที่บูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับเทคนิคแผนผังความคิด เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 3 มีองค์ประกอบสำคัญ คือ องค์ประกอบเชิงโครงสร้าง องค์ประกอบเชิงกระบวนการ และองค์ประกอบเชิงปัจจัยสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น (Analysis : A) ขั้นที่ 2 การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอน (Preparation : P) ขั้นที่ 3 การสร้างแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Motivation : M) ขั้นที่ 4 การเพิ่มพูนประสบการณ์ของนักเรียน (Increase : I) และขั้นที่ 5 การประเมินผล (Evaluation : E) ผลการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model มีค่าความเหมาะสมในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์คุณภาพตามที่กำหนด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model โดยบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับเทคนิคแผนผังความคิด สูงกว่าก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า ประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ APMIE Model โดยบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับเทคนิคแผนผังความคิด เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระเศรษฐศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 86.88/87.58 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ในภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก