ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผลเป็นระบบระเบียบ มีแบบแผนสามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์วางแผน ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังช่วยพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและอารมณ์ สามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
คุณภาพของผู้เรียนที่ระบุไว้ในคู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในแต่ละช่วงชั้นให้กับผู้เรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระคณิตศาสตร์ มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ มีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ มีความตระหนักในคุณค่าของคณิตศาสตร์ และสามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจนสามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และเป็นพื้นฐานในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพจะต้องมีพัฒนาการทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม ดังนี้
1. มีความรู้ความเข้าใจในคณิตศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับจำนวนและการดำเนินการ การวัด เรขาคณิต พีชคณิต การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น พร้อมทั้งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
2. มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลาย การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมายทาคณิตศาสตร์และการนำเสนอมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ
3. มีความสามารถในการทำงานอย่างเป็นระบบ มีระเบียบวินั มีความรอบคอบ มีความรับผิดชอ มีวิจารณญาณ มีความเชื่อมั่นในตนเอ พร้อมทั้งตระหนักในคุณค่าและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์
คุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบช่วงชั้นที่ 1 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 3) ประกอบด้วย
1. มีความคิดรวบยอดและความรู้สึกเชิงจำนวนเกี่ยวกับจำนวนนับและศูนย์และการดำเนินการของจำนวน สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบวก การลบ การคูณ และการหารจำนวนนับพร้อมทั้ง ตระหนักถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบที่ได้และสามารถสร้างโจทย์ได้
2. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว ระยะทาง น้ำหนัก ปริมาตรและความจุ สามารถวัด ปริมาณดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และนำความรู้เกี่ยวกับการวัดไปใช้แก้ปัญหาใน สถานการณ์ต่าง ๆ ได้
3. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมบัติพื้นฐานของรูปเรขาคณิตหนึ่งมิติ สองมิติ และสามมิติมีความเข้าใจเกี่ยวกับแบบรูปและอธิบายความสัมพันธ์ได้
4. รวบรวมข้อมูล จัดระบบข้อมูลและอภิปรายประเด็นต่าง ๆ จากแผนภูมิรูปภาพและแผนภูมิแท่งได้
5. มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็น ได้แก่ ความสามารถในการแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร สื่อความหมายและการนำเสนอทางคณิตศาสตร์ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์
สำหรับผู้เรียนที่มีความสนใจหรือมีความสามารถสูงทางคณิตศาสตร์ สถานศึกษาอาจจัดให้ผู้เรียนเรียนรู้สาระที่เป็นเนื้อหาวิชาให้กว้างขึ้น เข้มข้นขึ้น หรือฝึกทักษะกระบวนการมากขึ้นโดยพิจารณาจากสาระหลักที่กำหนดไว้นี้ หรือสถานศึกษาอาจจัดสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์อื่น ๆ เพิ่มเติมก็ได้ เช่น แคลคูลัสเบื้องต้น หรือทฤษฎีกราฟเบื้องต้น โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของผู้เรียน
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้ เจตคติ และทักษะให้นักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นกระบวนการที่เน้นการฝึกทักษะและการสร้างเจตคติจากประสบการณ์ของผู้เรียน เป็นการเรียนรู้ที่เป็นปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างความรู้มากกว่าการถ่ายทอดความรู้ โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า ผู้เรียนทุกคนมีประสบการณ์เดิม และสามารถสร้างความรู้ใหม่ขึ้นจากประสบการณ์เดิมนั้นได้ด้วยการสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง การสื่อสารที่เกิดขึ้นเป็นการขยายเครือข่ายความรู้ทั้งในทางกว้างและทางลึก ซึ่งชุดกิจกรรมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูและจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เร้าความสนใจของผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนรู้จุดมุ่งหมายชัดเจน และมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามความสามารถของแต่ละบุคคล เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นมีอิสระในการเรียนได้แสดงความคิดเห็น มีอิสระในการเรียน สามารถเรียนด้วยตนเองตามความสามารถและความสนใจของตนเอง จึงทำให้ผู้เรียนสนใจที่จะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบผลการปฏิบัติกิจกรรมนั้นๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน หรือเกิดความท้อถอยใน การเรียนเพราะผู้เรียนมีสิทธิที่จะกลับไปศึกษาเรื่องที่ตนเองไม่เข้าใจใหม่ได้ อีกทั้งยังเป็น การช่วยฝึกการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นเพื่อให้ผู้เรียนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
จากประสบการณ์ของผู้รายงาน ในการสอนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับช่วงชั้นที่ 1 โดยเฉพาะระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่าสภาพการเรียนโดยภาพรวมปรากฏว่า นักเรียนส่วนมากมีความสามารถ ความสนใจในการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย มีทั้งกลุ่มที่เรียนดี ปานกลาง กลุ่มที่บกพร่องทางการเรียนรู้ และเด็กพิเศษ จึงทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ โดยเฉพาะ วิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ปรากฏว่านักเรียนร้อยละ 50 มีผลการเรียนต่ำ แม้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่าง ๆ นักเรียนจะสามารถทำคะแนนได้โดยเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม แต่พบว่าเนื้อหา เรื่อง การหาร นักเรียนทำคะแนนได้น้อยจึงเป็นตัวฉุดคะแนนในภาพรวม เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาจึงพบว่าเกิดจากนักเรียนขาดทักษะในการคิดการคำนวณ มีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จึงทำให้ไม่สนใจ เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ จึงส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้น ผู้รายงานจึงสร้าง ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การหาร ร่วมกับเทคนิคการแข่งขันเป็นทีมมาประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เจตคติ ที่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การหาร ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการหาร ร่วมกับเทคนิคการแข่งขันเป็นทีม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ความสำคัญของการศึกษา
ผลของการศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้วิธีการสอน โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการหาร ร่วมกับเทคนิคการแข่งขันเป็นทีม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อันจะเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนได้นำไปใช้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น