ชื่อวิจัย การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมี
วิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้วิจัย นางสาวอาทิตยา การัมซอ
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านตือระ มิตรภาพที่ 172 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 2
ปีที่วิจัย 2565-2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ วิธีดำเนินการวิจัยใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ร่างรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบ และแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นตามรูปแบบ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามเจตคติ ต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องของรูปแบบ กลุ่มเป้าหมายที่นำรูปแบบไปใช้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านตือระ มิตรภาพที่ 172 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 22 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติที (t - test แบบ Dependent Samples) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ พบว่า จากการสัมภาษณ์ครูผู้สอน แนวทางในการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ นักเรียนควรเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะถ้านักเรียนได้เรียนรู้และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง นักเรียนจะมีความรู้ความเข้าใจที่คงทนกว่า การสอนแบบท่องจำ และเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนจะใช้ความรู้ความเข้าใจ การแสดงความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกี่ยวกับความคิดของตนเองในทักษะความคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ดีขึ้น และสภาพปัญหาและความต้องการ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ มีองค์ประกอบสำคัญ 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) การวัดและประเมินผล และ 5) เงื่อนไขการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ โดยในองค์ประกอบที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนรู้ มีขั้นการสอน 6 ขั้นตอน (SIENEA Model) ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดสถานการณ์ปัญหา (Situation) ขั้นที่ 2 ขั้นปฏิบัติการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry) ขั้นที่ 3 ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Exchange) ขั้นที่ 4 ขั้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ (New knowledge creation) ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล (Evaluation Phase) และขั้นที่ 6 ขั้นวิเคราะห์และสรุปผล (Analyze and summary) และผลการประเมินรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอน มีความเหมาะสมมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน สรุปได้ดังนี้
3.2 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ มีคะแนนทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณภาพรวมในระดับสูงมาก
3.2 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ มีเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สรุปได้ดังนี้
4.1 รูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ มีผลการประเมินมาตรฐานความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและความถูกต้อง ในระดับมากที่สุด
4.2 ผลที่เกิดต่อครูผู้สอนและนักเรียน เกี่ยวกับรางวัล/เกียรติบัตรที่ได้รับระดับเครือข่ายทางการศึกษาขึ้นไป ได้รับรางวัล จำนวน 7 รายการ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ จำนวนรางวัลที่ได้รับตั้งแต่ระดับเครือข่ายทางการศึกษาขึ้นไป มีไม่น้อยกว่า 5 รายการ ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด