1. ความเป็นมาและความสำคัญ
การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยเน้นด้านความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องสาระความรู้ให้บูรณาการความรู้และทักษะ ด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมในแต่ละระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคม (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3), 2553) การศึกษาในยุคศตวรรษ ที่ 21 มีการปรับเปลี่ยนวิธีการการจัดการเรียนรู้ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดูทันสมัย ซึ่งมุ่งเน้นให้คนไทย ได้สามารถสร้างความคิด เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองได้ อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นให้มีการพัฒนาตนเองเพื่อสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา เพื่อทำการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และสามารถประยุกต์สิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้น การศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาองค์ความรู้
เพื่อต่อยอดความคิด และสามารถสร้างสรรค์สังคมให้มีการพัฒนาอยู่ในยุคที่เจริญรุ่งเรือง ให้มีการศึกษาที่ดี มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะวิทยาศาสตร์สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่จำเป็นในปัจจุบัน การพัฒนาและการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ล้วนอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการประยุกต์ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ กลายเป็นเทคโนโลยีที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยเอื้อความสะดวก ผลผลิตต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในชีวิตของมนุษย์ (พิมพร ผาพรมและนิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, 2561: 43 - 67) วิทยาศาสตร์นอกเหนือจะเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ยังต่อยอดให้มนุษย์สามารถพัฒนากระบวนการคิด การมีเหตุมีผล การวิเคราะห์เบื้องต้น การวิจารณ์ มีทักษะ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ มีแบบแผน สามารถตัดสินใจและลงความเห็นผ่านข้อเท็จจริงและประจักษ์พยานที่หลากหลายและสามารถตรวจสอบได้อย่างเหมาะสม (สริญญา มารศรี, 2562: 105 - 122)
วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับ ทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้และผลผลิตต่างๆ ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตและการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่น ๆ วิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์ได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ ใช้ความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม มีความสามารถ ในการแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถค้นหาข้อมูลหรือสารสนเทศ ประเมินสารสนเทศ ประยุกต์ใช้ทักษะการคิด เชิงคำนวณและความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ สื่อดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงอย่างสร้างสรรค์ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลายและมีประจักษ์พยาน ที่ตรวจสอบได้ วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (knowledge-based society) ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจ ในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม ดังนั้นครูผู้สอนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมโยงความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญ ทั้งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะในศตวรรษที่ 21 ในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลหลากหลายและประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2560)
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนนาค้อวิทยาคม จึงมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความรู้แบบบูรณาการ เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สามารถนำองค์ความรู้มาเชื่อมโยงกันในแต่ละสาระการเรียนรู้นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริง นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method : 5E) ซึ่งรูปแบบการสอนดังกล่าวมีแนวทางเพื่อให้ผู้เรียน มีคุณลักษณะและศักยภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการศึกษา ค้นคว้า เลือกใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) การสื่อสารและการร่วมมือ (Collaboration, Teamwork and Leadership) ทักษะด้านสารสนเทศ รู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยี (Communications, Information, and Media Literacy) ซึ่งทักษะเหล่านี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและไม่จำกัดพื้นที่ในการเรียนรู้ ประกอบกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขับเคลื่อนโครงการการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ซึ่งเป็นสื่อเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายทางสาขาวิชา และมีความหลากหลายทางด้านเนื้อหา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของเด็กยุคใหม่ให้รู้เท่าทันสื่อ และสามารถนำสื่อที่มีไปต่อยอดในด้านต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center เช่น หนังสือ วิดิโอ แอพลิเคชั่น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งการจัดการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันสามารถนำสื่อเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสาขาวิชาของตนได้อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ตามความเหมาะสมทางด้านเนื้อหา ความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน ดิฉันจึงได้นำสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในรายวิชา วิทยาศาสตร์ 1 เรื่อง หน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยผ่านการจัดการเรียนการสอน Active learning โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method : 5E) ร่วมกับแนวทางการบริหารจัดการแบบ PDCA ด้วยสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center
เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียนในครั้งนี้
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method : 5E) ร่วมกับแนวทางการบริหารจัดการแบบ PDCA ด้วยสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center
2. เพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ในการจัดการศึกษารูปแบบ Active Learning
ด้วยสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center
3. บทเรียนที่ได้รับ
1. การจัดการเรียนรู้โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนมีมโนมติทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
2. การนำเอาสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะทางด้านเทคโนโลยี โดยไม่จำกัดขอบเขตในการหาองค์ความรู้ ได้จากหนังสือเรียนเท่านั้น แต่สามารถหาองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีได้หลากหลายรูปแบบและหลากหลายช่องทาง โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลาในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดในชีวิตประจำวันเพื่อต่อยอดการศึกษาได้อีกด้วย
3. การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในรายวิชา วิทยาศาสตร์ 1 เรื่อง หน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยผ่านการจัดการเรียนรู้สืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method : 5E) ร่วมกับแนวทางการบริหารจัดการแบบ PDCA โดยใช้สื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ถือได้ว่าเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ทำการวาดโครงสร้างของเซลล์พืชเซลล์สัตว์ เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว สามารถวางแผนและนำไปต่อยอดในหลากหลายทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
4. การจัดการเรียนรู้ประกอบกับการที่ให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นทีมจะสามารถส่งเสริมทักษะความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้ตาม การยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น และสามารถสรุปองค์ความรู้ที่ได้ร่วมกัน โดยผ่านการตรวจสอบมโนมติในแต่ละขั้นตอนโดยนักเรียนและครูผู้สอนได้อีกด้วย
ข้อเสนอแนะ
4. ข้อเสนอแนะ
1. การจัดการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมจะมีทั้งผู้ที่สนใจและผู้ที่ไม่สนใจ ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องกระตุ้นความสนใจแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสมและความถนัดของผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างพลังบวกในการเรียนรู้
2. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในบางช่วงอาจจะต้องเตรียมระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เรียนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ทันท่วงที
3. การจัดกิจกรรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งใกล้ตัว ในการออกแบบโครงสร้างของเซลล์พืช เซลล์สัตว์ได้อีก อาทิเช่น การนำขนมที่ทานในปัจจุบันมาออกแบบ หรือการนำดินน้ำมันมาทำเป็นโครงสร้างเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ ซึ่งครูผู้สอนจะนำมาประยุกต์ใช้ในครั้งถัดไป เพื่อความเพลินเพลินแก่ผู้เรียน
5. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1. ผู้บริหารของทางโรงเรียนให้การสนับสนุน ให้เข้าร่วมกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสื่อเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ให้กับคณะครูแกนนำภายในโรงเรียน
2. ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นไปด้วยดี
3. ครูผู้สอนมีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนำสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายมาใช้ในการทำกิจกรรม การตรวจสอบและประเมินผลเพื่อดูมโนมติที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนด้วยความเหมาะสม
4. มีการประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเนื้อหาในการจัดการเรียนรู้อย่างครอบคลุม