ความเป็นมาและความสำคัญ
ในปัจจุบันการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนเพื่อเตรียมคนสู่โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นเป้าหมายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ สภาพปัญหา ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทุกโรงเรียนล้วนประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติต้องปิดตัวลง พบกับปัญหาความน่าเบื่อหน่ายในการเรียนของตัวผู้เรียน การที่ครูผู้สอนมานั่งอธิบายเนื้อหาผ่านมือถือให้ผู้เรียนรับทราบ เกิดความไม่ดึงดูดใจของผู้เรียน ผู้เรียนเริ่มไม่สนใจในการเรียน เริ่มไม่ตอบสนองกับการเรียน คุณครูจึงต้องศึกษาเทคนิควิธีการ กระบวนการสอน กิจกรรมการสอนและนวัตกรรมการสอนที่น่าดึงดูดใจ สำหรับผู้เรียนจากเว็บไซต์ แพตฟอร์มต่างๆ เช่น OBEC Content Center มาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทเนื้อหาในการสอนในรายวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กล่าวถึงว่า "คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" ดังนั้นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการอ่านจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการแสวงหาความรู้การเรียนรู้และใช้วิธีอ่าน ที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้อ่าน การรู้จักฝึกฝนอ่านอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ผู้อ่าน มีพื้นฐานในการอ่านที่ดีทั้งจะช่วยให้เกิดความชำนาญและมีความรู้กว้างขวางด้วย ดังนั้น การที่นักเรียนจะเป็นผู้อ่านที่ดีจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ครูเป็นผู้จัดเตรียมให้ อีกทั้งยัง ต้องผสมผสานกับความสนใจของผู้อ่านเพื่อเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้นักเรียนได้อ่านอย่าง สม่ำเสมอ (สุนันทา มั่นเศรษฐวิทย์ 2545: 2)
วิธีสอนเพื่อที่จะให้นักเรียนมีการพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความ วิธีสอนวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ วิธีสอนแบบการนำนิทานเข้ามาสอดแทรกวิธีการอ่านจับใจความ ซึ่งสุกัญญา วันชนะ (2553 : 38-39) กล่าวว่า การนำนิทานที่มีเนื้อหา สนุกสนานเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก หรือเป็นเรื่องที่เด็กสนใจอยู่แล้ว มาแต่งและวาด ภาพประกอบให้สวยงาม ใช้คำที่เหมาะสม อ่านง่าย มีความหมายที่ชัดเจน จะทำให้ นักเรียนอ่านง่ายสนุกสนานและจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดีนอกจากนี้นิทานเป็นสิ่งที่เด็กชื่น ชอบ อยากฟัง อยากอ่าน และสนใจอยากรู้ การจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กโดยใช้นิทาน เป็นสื่อเป็นสิ่งที่ดี เพราะธรรมชาติการเรียนรู้ของคนเราจะให้ประสบผลดีได้นั่น ย่อมมา จากความต้องการ ความสนใจของผู้เรียนเองการอ่านนิทานจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาการด้าน ภาษาจากการฟัง การอ่าน การพูดเล่าเรื่อง และสามารถเขียนสรุปข้อคิดจากนิทานได้ นิทานช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่เด็กนิทานบางเรื่องจะมีเกร็ดความรู้การปฏิบัติตน ของตัวละครที่เป็นแบบอย่างในการกระทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเสริมสร้างประสบการณ์ ให้แก่เด็กอีกวิธีหนึ่งการที่ครูผู้สอนเล่านิทานหรือให้นักเรียนอ่านนิทานอยู่เสมอ เป็นการฝึกให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่จะฟังและเมื่ออ่านหรือฟังนิทานจบแล้ว ครูสามารถฝึกให้เด็กมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อคิดสำคัญจากนิทานได้และรู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่ง ใหม่ๆอย่างสร้างสรรค์
จากประสบการณ์ที่ผู้ศึกษาเป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เป็นเวลา กว่า 20 ปี ประสบปัญหาจากการให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดและการทดสอบความสามารถในด้าน การอ่านและการเขียน พบว่า นักเรียนร้อยละ 80 อ่านเรื่องได้แต่ไม่สามารถจับใจความสำคัญและ ตอบคำถามได้ ดังจะเห็นได้จากลักษณะการเขียนที่ไม่ถูกต้อง ลำดับเหตุการณ์ไม่ต่อเนื่อง ตอบคำถาม ใช้ใจความเดิมซ้ำหลายครั้ง และจับใจความของเรื่องที่อ่านไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกิดขึ้นกับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยทำการสอนในทุกปีการศึกษา ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ นักเรียนเกิดความไม่อยากเรียนวิชาภาษาไทย เพราะคิดว่ายากและทำไม่ได้ก็จะทำให้ไม่อยากเรียน วิชาภาษาไทย อาจก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนในระดับที่สูงขึ้นได้
ผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีระบบ OBEC Content Center ที่มีสื่ออย่างหลากหลาย เป็นสื่อที่เคลื่อนไหว น่าสนใจ สามารถเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ช่วยครูประหยัดเวลาในการเตรียมการสอน ผู้ศึกษาได้ทำการเลือกสื่อที่ได้จากการเข้าใช้งานในระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC Content Center เรื่อง การอ่านจับใจความจากนิทาน ของ คุณครูวลัยพร ศรีหะชัย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นสื่อประกอบ การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อประโยชน์ในการฝึกทักษะการอ่านของผู้เรียนให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน ผ่านระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
2. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการอ่านจับใจความ
3. เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
เป้าหมาย
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 จำนวน 28 คน ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนวัดจำปา อำเภออุทัย
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. ครูผู้สอนเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) จากครูวิชาการของโรงเรียน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากกลุ่มส่งเสริมและการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต ๑
2. วางแผน เพื่อกำหนดสาระการเรียนรู้ เรื่องที่ต้องการฝึกฝนทักษะให้กับนักเรียน ซึ่งสาระการเรียนรู้ที่ต้องการให้นักเรียนฝึกฝน คือ ทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน ผ่านระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center )
3. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยนำรูปบบการเรียนแบบเชิงรุก (Active Learning) มาใช้ในการออบแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center)
4. นักเรียนเรียนรู้ และปฏิบัติกิจกรรมการอ่านจับใจความจากนิทาน ผ่านระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
5. สร้างและใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการอ่านจับใจความจากนิทาน ผ่านระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) บันทึกและสรุปผลการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งระบุปัญหา และอุปสรรค นำผลที่ได้มาวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่พบระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้
6. เผยแพร่ผลงานการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน ผ่านระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล (OBEC Content Center) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ผ่านเพจ Facebook โรงเรียนวัดจำปา
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้แผนการจัดการเรียนรู้การพัฒนาการอ่านจับใจความจากนิทานที่มีประสิทธิภาพ
2. นักเรียนได้พัฒนาทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน
3. นักเรียนมีทักษะในการอ่านที่ดี เขียนสรุปเรื่องที่อ่านได้ถูกต้องและสามารถนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learn)
1. นักเรียนมีทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน
๒. การใช้ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) พัฒนาทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน จะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนที่ยั่งยืน
๓. นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ตลอดจนกลุ่มสาระรายวิชาอื่นๆ ตอลอดจนมีนิสัยรักการอ่าน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1. ผู้ศึกษาเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) จากครูวิชาการของโรงเรียน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากกลุ่มส่งเสริมและการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต ๑ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง คลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) เพิ่มมากขึ้น
2. ผู้ศึกษามีการเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความจากนิทาน ผ่านการใช้ระบบสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center)
3. ผู้ศึกษามีตัวอย่างจาก ระบบคลังสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) จากครูที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย
4. ผู้ศึกษาดูแลนักเรียนในห้องเรียนอย่างใกล้ชิด และสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Content Center) เรื่องการอ่านจับใจความจากนิทาน เป็นสื่อวีดิทัศน์ให้นักเรียนทั้งฟังและอ่าน และเป็นสื่อที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้เป็นอย่างดี