แบบรายงานผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ชื่อผลงาน ชุดกิจกรรม ไพทอน พาเพลิน (Python Pa-Plearn) เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ในรายวิชาวิทยาการคำนวณของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้เสนอผลงาน นางสาวณัฐกฤตา ชาดีกรณ์
ตำแหน่ง ครู
หน่วยงาน โรงเรียนวัดสุทธาวาส
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3
_______________________________________________________________________________
จากการศึกษาปัญหาในการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า ผู้เรียนใช้ทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ยังไม่ดีเท่าที่ควร ไม่สามารถอธิบาย ออกแบบ หรือเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ การนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับที่สูงต่อไป ซึ่งโรงเรียนวัดสุทธาวาสอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยแล้วนั้น ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ผู้เรียนกระบวนการคิดเชิงคำนวณ การออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา โดยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้เรียนสามารถออกแบบขั้นตอนการทำงานด้วยการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python (ว 4.2 ม.2/2) โดยภาษาไพทอนเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเขียนโปรแกรมไปจนถึงการประยุกต์ใช้งานในระดับสูง เนื่องจากเป็นภาษาที่มีโครงสร้างและไวยากรณ์ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจ มีการนำตัวแปร และฟังก์ชันมาช่วยในการทำงาน ตลอดจนมีโครงสร้างการทำงานแบบเรียงลำดับ และโครงสร้างการทำงานแบบเลือกทำ เพื่อให้สามารถคำนวณ ประมวลผลได้ตามที่ต้องการ แต่ผู้เขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน (Python) มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
จากการศึกษาข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้น ผู้จัดทำจึงได้จัดทำสื่อและแหล่งเรียนรู้ในคลังเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ OBEC Content Center ด้วยชุดกิจกรรม ไพทอน พาเพลิน (Python Pa-Plern) เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ในรายวิชาวิทยาการคำนวณของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ประกอบไปด้วยคลังคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ตัวดำเนินการ (Operators) ของภาษาไพทอนที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม รวมถึงมีเกมที่หลายรูปแบบ มีความท้าทาย จากหลักการ Gamification และสื่อการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าศึกษา ได้ตามอัธยาศัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ การสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนจึงต้องอาศัยองค์ประกอบหรือวิธีการสอนที่หลากหลายเช่น การฝึกทำซ้ำ การเสริมแรงทางบวกให้ผู้เรียนมีกำลังใจในการพัฒนา หรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง การจัดการเรียนการสอนแบบเล่นปนเรียน (Play And Learn = Plearn) เพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ อยากเรียนรู้ เพิ่มความสุขในการเรียน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย จดจำได้ดี จนทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ (ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างสื่อเทคโนโลยี OBEC Content Center ชุดกิจกรรม ไพทอน พาเพลิน (Python Pa-Plern)เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ในรายวิชาวิทยาการคำนวณของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2. เพื่อฝึกกระบวนการคิด การวิเคราะห์ปัญหา การตั้งคำถามที่มาของปัญหา การวางแผนการแก้ไขปัญหา จนเกิดสมรรถนะสำคัญ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น
3. เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อรายวิชาวิทยาการคำนวณ และศึกษาความพึงพอใจต่อการใช้นวัตกรรมชุดกิจกรรม ไพทอน พาเพลิน (Python Pa-Plearn)เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ในรายวิชาวิทยาการคำนวณของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
เป้าหมาย
ประชากร ได้แก่ ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดสุทธาวาส จำนวน 239 คน
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนวัดสุทธาวาส จำนวน 39 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Simpling)
เชิงปริมาณ
1) ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ร้อยละ 100 ได้ใช้สื่อเทคโนโลยี OBEC Content Center ในการเรียนรู้ และได้เรียนรู้ชุดกิจกรรม ไพทอน พาเพลิน (Python Pa-Plearn) เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ในรายวิชาวิทยาการคำนวณของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2) ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีทักษะการคิดเชิงคํานวณ มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80
เชิงคุณภาพ
1) ความพึงพอใจการใช้สื่อเทคโนโลยี OBEC Content Center ในการใช้ชุดกิจกรรม ไพทอน พาเพลิน (Python Pa-Plearn) เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหา ในรายวิชาวิทยาการคำนวณของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2) ผู้เรียนสามารถนำทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมที่ใช้ตรรกะและฟังก์ชันในการแก้ปัญหาไปบูรณาการกับวิชาอื่น หรือแก้ไขปัญหาอื่นได้