วิธีดำเนินการวิจัย
ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
- ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑/๒ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕
จังหวัดพังงา
- กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑/๒
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงา ปีการศึกษา ๒๕๖๖ จำนวน ๑ คน เลือกโดยวิธีเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย/นวัตกรรม
นวัตกรรมที่ใช้ในการฝึก
- ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาว ประกอบไปด้วย บัตรคำ บัตรภาพ เพลง นิทาน ปริศนาคำทาย กิจกรรมการฝึกอ่าน และกิจกรรมการฝึกเขียน
แบบฝึกทักษะ เรื่อง สระเดี่ยวเสียงยาว
- แบบทดสอบวัดความสามารถในการเรียน เรื่อง สระเดี่ยวเสียงยาว ก่อนและหลังการใช้
แบบฝึก
ขั้นตอนการวิจัย
การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำหลักการและขั้นตอนมาใช้ในการศึกษาค้นคว้าและดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องสระเดี่ยวเสียงยาวในภาษาไทย ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑/๒ โดยกำหนดขั้นตอนไว้ดังนี้
๑. เลือกกลุ่มเป้าหมายที่เจาะจง คือ นักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนรู้ เนื่องจากพบปัญหาในกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน
๒. ศึกษาทฤษฎี ตำรา เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย
๓. ศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแปรต้น (ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาว) และตัวแปรตาม (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องสระเดี่ยวเสียงยาวในภาษาไทย)
๔. สร้างนวัตกรรมที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
- ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวดสียงยาว ประกอบด้วย บัตรคำ , บัตรภาพ , นิทาน , กิจกรรมการฝึกอ่าน เป็นต้น
- สร้างแบบฝึกทักษะ เรื่อง สระเดี่ยวเสียงยาว
- สร้างแบบทดสอบวัดความสามารถในการเรียน เรื่อง สระเดี่ยวเสียงยาว ลักษณะเป็นปรนัย ๓ ตัวเลือก จำนวน ๒๐ ข้อ และทำการใช้แบบทดสอบก่อนการเรียน
๕. ทำการทดสอบหลังการใช้นวัตกรรมในการวิจัย
๖. เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล
๗. สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
ผลการวิจัย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลการวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องสระเดี่ยวเสียงยาวในภาษาไทย ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑/๒ โดยใช้ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาว ปรากฏดังนี้
การใช้ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาวในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาการอ่านคำที่ประสมด้วยสระเดี่ยวเสียงยาวที่ไม่มีตัวสะกดได้ ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑/๒ ส่งผลให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐.๐๐
อภิปรายผล
จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการสอนโดยใช้ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาว เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมความสามารถทางด้านภาษาไทย เรื่อง สระเดี่ยวเสียงยาว ทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้สามารถอ่านคำที่ประสมด้วยสระเดี่ยวเสียงยาวที่ไม่มีตัวสะกดได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเมื่อครูผู้สอนได้ใช้แบบฝึกทักษะและชุดสื่อนวัตกรรมที่หลากหลาย เร้าความสนใจของผู้เรียน ซึ่งเหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนสามารถท่องจำและเข้าใจถึงคำที่ประสมด้วยสระเดี่ยวเสียงยาวที่ไม่มรตัวสะกด ซึ่งได้แก่ สระ อา , สระ อี , สระ อือ , สระ อู , สระ เอ , สระ แอ , สระ เออ , สระ โอ และ สระ ออ ทั้งนี้การใช้ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาว ซึ่งประกอบไปด้วย บัตรคำ , บัตรภาพ , นิทาน และกิจกรรมการฝึกการอ่าน จะทำให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น อีกทั้งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้เน้นกระบวนการเรียนการสอนที่สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความคงทนของความรู้ ดังนั้นการสอนโดยใช้ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาว จึงเหมาะสมที่จะนำไปใช้สอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เนื่องจากทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ สามารถอ่านคำที่ประสมด้วยสระเดี่ยวเสียงยาวที่ไม่มีตัวสะกดได้ด้วยตนเองและสามารถต่อยอดการเรียนรู้ภาษาไทยในระดับที่สูงขึ้นได้ อีกทั้งทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จในการเรียนอย่างเต็มศักยภาพ
ข้อเสนอแนะ
๑. ควรมีการจัดทำชุดสื่อการสอนในการสอนสระอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก สระที่ได้จัดทำแล้ว หรือการจัดทำชุดสื่อการสอนเพื่อสอนในวิชาอื่นๆ ต่อไป
๒. ควรมีการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องสระเดี่ยวเสียงยาวของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ระหว่างการสอนโดยใช้ชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาวกับวิธีการสอนแบบอื่นๆ
๓. ครูผู้สอนควรมีการเสริมแรงให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจและมีกำลังใจ
๔. ควรสร้างชุดสื่อการสอนสระเดี่ยวเสียงยาวให้หลากหลายลักษณะและสามารถนำไปใช้กับสระอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเหมาะกับความบกพร่องของนักเรียน