บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยห้องเรียนคุณภาพ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการ และแนวทางพัฒนาห้องเรียนในโรงเรียน เพื่อศึกษาพัฒนาห้องเรียนคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน และเพื่อศึกษาผลการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยห้องเรียนคุณภาพของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 การศึกษาในครั้งนี้ดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน ตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ดังนี้ 1) คณะกรรมการวิเคราะห์สภาพปัญหา และความต้องการพัฒนาห้องเรียนของโรงเรียน สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 จำนวน 11 คน 2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) จำนวน 3 แห่ง คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 3) คณะกรรมการจัดทำคู่มือและแนวทางการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพ เป็นผู้ยกร่าง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 จำนวน 23 คน 4) ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา ประกอบด้วย นักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 11 คน และ 5) ผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิชาการโรงเรียน ครูผู้สอนระดับปฐมวัย ครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน (โรงเรียนละ 5 คน) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 โดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 223 โรงเรียน รวมทั้งหมดจำนวน 1,115 คน โดยใช้เครื่องมือแบบศึกษาเอกสาร และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา
1. การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการพัฒนาห้องเรียนของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 พบว่า สภาพปัญหา 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1) การจัดสภาพห้องเรียนส่วนใหญ่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียน 2) บรรยากาศในห้องเรียนส่วนใหญ่ไม่เอื้อและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียน และ 3) ครูจัดประสบการณ์หรือจัดการเรียนรู้โดยไม่ให้เด็กหรือผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่วนมีความต้องการ 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1) เขตพื้นที่การศึกษาควรพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพเพื่อกระตุ้นการพัฒนาห้องเรียนให้มีคุณภาพ 2) สถานศึกษาควรมีการนิเทศติดตามและประเมินผลห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง และ 3) เขตพื้นที่การศึกษาควรมีการจัดกิจกรรมประกวดการพัฒนาสื่อการเรียนหรือนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้
ผลการศึกษาผลการศึกษาแนวทางการดำเนินงานห้องเรียนคุณภาพของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี พบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าวมีแนวดำเนินการ ดังนี้ 1) กรอบแนวคิด ได้แก่ (1) พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (2) พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (3) มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาระดับการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2561 (4) กรอบมาตรฐานวิชาชีพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามวิทยฐานะ (5) นโยบายการศึกษาระดับชาติ ระดับกระทรวงศึกษาธิการ และ ระดับ สพฐ. และ (6) นโยบายของพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตนเอง 2) คณะกรรมการ ได้แก่ (1) คณะกรรมการดำเนินการห้องเรียนคุณภาพระดับโรงเรียนและบทบาทหน้าที่ (2) คณะกรรมการประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับกลุ่มโรงเรียน/กลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบบูรณาการ และ (3) คณะกรรมการประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับเขตพื้นที่การศึกษา และ 3) แนวคิดการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพ องค์ประกอบห้องเรียนคุณภาพ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) ด้านกายภาพ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (2) ด้านคุณภาพครู การบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และ (3) ด้านคุณภาพผู้เรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน
2. ผลการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1
2.1 แนวทางการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) แนวทางการยกระดับห้องเรียนคุณภาพสู่สถานศึกษาคุณภาพ ประกอบด้วย 1.1) ความหมายของห้องเรียนคุณภาพ 1.2) ความสำคัญของห้องเรียนคุณภาพ และ 1.3) ประโยชน์ของห้องเรียนคุณภาพ 2) องค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพ ประกอบด้วย 2.1) องค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับปฐมวัย ประกอบด้วย 2.1.1) ด้านภายภาพ 2.1.2) ด้านคุณภาพการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และ 2.1.3) ด้านคุณภาพเด็ก และ 2.2) องค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 2.2.1) ด้านภายภาพ 2.2.2) ด้านคุณภาพครู และ 2.2.3) ด้านคุณภาพนักเรียน 3) คณะกรรมการดำเนินงานห้องเรียนคุณภาพ ประกอบด้วย 3.1) คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษา ห้องเรียนคุณภาพ ประจำศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา และ 3.2) คณะกรรมการประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา และ 4) กำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรหลัก ประกอบด้วย 4.1) บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา 4.2) บทบาทหน้าที่ของครู และ 4.3) ครูกับห้องเรียนคุณภาพ
2.2 ผลการตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของแนวทางการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ความเหมาะสมขององค์ประกอบในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า ทุกองค์ประกอบมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ องค์ประกอบที่ 2 คณะกรรมการดำเนินงานห้องเรียนคุณภาพ และองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ องค์ประกอบที่ 1 องค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพ ส่วนความเป็นไปได้ขององค์ประกอบในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายองค์ประกอบ พบว่า ทุกองค์ประกอบมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 องค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพ ส่วนองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ องค์ประกอบที่ 2 คณะกรรมการดำเนินงานห้องเรียนคุณภาพ และองค์ประกอบที่ 3 กำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรหลัก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน
3. ผลการใช้ห้องเรียนคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 พบว่า ความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิชาการโรงเรียน ครูผู้สอนระดับปฐมวัย และครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน เกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวทางห้องเรียนคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 พบว่า ในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยสูงที่สุดไปหาต่ำที่สุด คือ กำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรหลัก อยู่ในระดับมาก นอกจากนั้น อยู่ในระดับมาก ได้แก่ องค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพ แนวทางการยกระดับห้องเรียนคุณภาพสู่สถานศึกษาคุณภาพ และคณะกรรมการดำเนินงานห้องเรียนคุณภาพ ตามลำดับ
ส่วนความพึงพอใจของผู้บริหารสถานศึกษา ครูวิชาการโรงเรียน ครูผู้สอนระดับปฐมวัย และครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน เกี่ยวกับการนำแนวทางห้องเรียนคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ไปใช้ พบว่า ในภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยสูงที่สุดไปหาต่ำที่สุด 3 ลำดับแรก คือ กิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สอนที่มีผลงานในการการยกระดับห้องเรียนคุณภาพ กิจกรรมการนิเทศและประเมินผลห้องเรียนคุณภาพโดยคณะกรรมการระดับศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา และกิจกรรมแลกเปลี่ยนการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพ ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ เกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถปฏิบัติไปจริงในสถานศึกษา อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้
1.1 จากการประเมินการปฏิบัติตามองค์ประกอบและเกณฑ์การประเมินห้องเรียนคุณภาพระดับปฐมวัย โดยรวมอยู่ในระดับมาก อาจจะต้องมีการปรับรายการพิจารณาแต่ละองค์ประกอบให้ชัดเจน และง่ายต่อการนำไปปฏิบัติในสถานศึกษา
1.2 จากผลการนำแนวทางการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ไปใช้ และคณะกรรมการประเมินห้องเรียนคุณภาพ พบว่า ผลการประเมินส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งจากข้อมูลยังมีห้องเรียนจำนวนมากที่ยังต้องมีการพัฒนาให้เป็นห้องเรียนคุณภาพ จึงควรนำผลการประเมินไปเป็นข้อมูลในการเร่งรัดพัฒนาให้เป็นห้องเรียนคุณภาพระดับดีเยี่ยมให้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การเป็นสถานศึกษาคุณภาพต่อไป
2. ข้อเสนอแนะในการศึกษาในครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาเชิงคุณภาพระหว่างผลการประเมินห้องเรียนคุณภาพกับผลการประเมินคุณภาพภายนอกของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1
2.2 ควรมีการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพสู่การพัฒนาเป็นสถานศึกษาคุณภาพ เชื่อมโยงกับระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1