ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน
เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย อรวรรณ อินทสะอาด
ปีที่วิจัย 2564 - 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิธีดำเนินการวิจัยใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและพัฒนารูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ และขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลของรูปแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 (อายุ 4-5 ปี) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนอนุบาลศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 จำนวน 30 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม 3) คู่มือการใช้รูปแบบ 4) กิจกรรมตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน 5) แผนการจัดการเรียนรู้ 6) แบบประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 7) แบบประเมินมาตรฐานความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและความถูกต้องของรูปแบบ และ 8) แบบสอบถาม ความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้สถิติที (t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน พบว่า 1) สภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมีปัญหา และอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การสนองความต้องการและความสนใจของเด็ก ที่มีความกระตือรือร้น สนใจสิ่งที่ อยู่รอบตัว อยากรู้ อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ สื่อในการจัดการเรียนรู้ที่บ่งชี้ในหน่วยที่ทำการเรียนการสอน การตอบสนองอารมณ์และความรู้สึกของเด็กที่ต้องการความเข้าใจ ความเอื้ออาทรจากบุคคลที่ใกล้ชิด เด็กมีความรู้สึกช้า การสร้างบรรยากาศอิสระในการแสดงออก ซึ่งความคิดและความรู้สึกต่าง ๆ โดยให้โอกาสเด็กเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ตามความถนัดหรือความสนใจมีน้อยกว่าจำนวนเด็ก 2) สภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และ 3) ความต้องการในการจัดการเรียนรู้ ของเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงาน เป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัย ได้องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) สาระการจัดประสบการณ์ 4) วิธีดำเนิน กิจกรรมตามรูปแบบ 5) สื่อและแหล่งการเรียนรู้ และ 6) การวัดและประเมินผล ในองค์ประกอบที่ 4 วิธีดำเนินกิจกรรมตามรูปแบบ มีขั้นตอนการจัดกิจกรรม 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นกระตุ้นความสนใจ ขั้นที่ 2 ขั้นการตั้งคำถาม ขั้นที่ 3 ขั้นจัดกลุ่มและแสวงหาความรู้ ขั้นที่ 4 ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ และขั้นที่ 5 ขั้นสรุปสิ่งที่เรียนรู้ ผลการประเมินคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์ มีความเหมาะสมในระดับมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการเรียนด้วยรูปแบบ การจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินรูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.58, S.D. = 0.52) และครูผู้สอนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิด การแสวงหาความรู้และโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( = 4.53, S.D. = 0.52)