ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้การวิจัยปฏิบัติการ
แบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทิงวิทยาคม
ผู้วิจัย นายเสกสรร ทุนอินทร์
ปีที่จัดทำ 2565-2566
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อศึกษาสภาพและแนวทางการพัฒนาครูด้านการทำวิจัย
ในชั้นเรียน เพื่อสร้างและตรวจสอบรูปแบบ เพื่อทดลองใช้รูปแบบ และเพื่อประเมินรูปแบบการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียน โรงเรียนเทิงวิทยาคม โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพและแนวทางการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยศึกษาสภาพและปัญหา
การทำวิจัยในชั้นเรียนของผู้บริหารและครู ปีการศึกษา 2565 จำนวน 130 คน และศึกษาแนวทาง การพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนจากแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบรูปแบบ โดยยกร่างรูปแบบและจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบ ตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบพร้อมแก้ไขปรับปรุง
โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบโดยผู้บริหารและครู ซึ่งเป็น
ผู้มีส่วนร่วมใช้รูปแบบ จำนวน 130 คน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบโดยผู้บริหารและครูโรงเรียนเทิงวิทยาคม จำนวน 130 ในปีการศึกษา 2566 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง แบบประเมิน และแบบบันทึก วิเคราะห์ข้อมูล
โดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปข้อมูล และ
การทดสอบค่าที
ผลการวิจัย สรุปได้ว่า
1. จากการศึกษาสภาพและแนวทางการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า สภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของผู้บริหารสถานศึกษาและครูโรงเรียนเทิงวิทยาคมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยสภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนที่มีการดำเนินงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขั้นกำหนดปัญหาวิจัยและเลือกนวัตกรรมการเรียนรู้ ขั้นออกแบบและวางแผนการวิจัย ขั้นสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยในชั้นเรียน มีการดำเนินมากที่สุดตามลำดับ และปัญหาการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยปัญหาการทำวิจัยในชั้นเรียนที่มีมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กำหนดปัญหาวิจัยและเลือกนวัตกรรมการเรียนรู้ ขั้นออกแบบและวางแผนการวิจัยขั้นลงมือปฏิบัติตามแผนการวิจัย และความต้องการพัฒนาความสามารถการทำวิจัยในชั้นเรียน คือ ควรจัดอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียนและการสร้างนวัตกรรมโดยวิทยากรที่มีประสบการณ์ทุกปี เพื่อนำความรู้ เทคนิค วิธีการ แนวทางใหม่มาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น แนวทางการพัฒนา คือ การเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยบริหารและความร่วมมือของบุคลากรทั้งโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันหาประเด็นการพัฒนาผู้เรียน วางแผนพัฒนาครู ลงมือปฏิบัติโดยทำวิจัยในชั้นเรียนตามระยะเวลาที่กำหนด สังเกตการสอนและพัฒนาการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนให้ครอบคลุมเพื่อให้งานวิจัยมีคุณภาพ มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง สร้างขวัญและกำลังใจในการทำวิจัย และจัดกิจกรรมเสวนา ประกอบการนำเสนอผลการวิจัยในชั้นเรียน แสดงผลงานการวิจัยในชั้นเรียนที่เป็นต้นแบบ
2. รูปแบบการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทิงวิทยาคม ทำให้ได้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทิงวิทยาคม 7 องค์ประกอบ ประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ ระบบงานและกลไก กระบวนการ การประเมินผล ผลผลิต และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ โดยกระบวนการ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการพัฒนาครู ขั้นวางแผนพัฒนาครู ขั้นปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการพัฒนาครู ขั้นสังเกตผลการทำวิจัยในชั้นเรียน ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติและการสรุปบทเรียน และคู่มือการใช้รูปแบบ และรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบมีระดับความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ และความถูกต้องอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทิงวิทยาคม พบว่า
ผู้บริหารสถานศึกษาและครูโรงเรียนเทิงวิทยาคมมีความสามารถในการทำวิจัยในชั้นเรียนในระดับดีมาก และมีความสามารถสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และจำนวนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนของผู้บริหารและครูโรงเรียนเทิงวิทยาคม ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 130 เรื่อง และภาคเรียนที่ 2 จำนวน 130 เรื่อง
4. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทิงวิทยาคม ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และการสะท้อนผลการใช้รูปแบบ พบว่า ผู้บริหารและครูโรงเรียนเทิงวิทยาคมมีความรู้ความเข้าใจและสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีจุดเด่น คือ ครูมีความรับผิดชอบในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนผ่านการทำวิจัยในชั้นเรียน ผ่านการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูแกนนำด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน สามารถพัฒนาผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีขึ้น