1.สภาพปัจจุบัน ปัญหาของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
1.1 สภาพปัจจุบัน/ที่มาและความสำคัญ/สภาพปัญหาของผู้เรียน
คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ช่วยให้คาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหาและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่นๆ คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กรมวิชาการ 2551: น.1) จึงถือได้ว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญและจำเป็นมาก ต่อทุกคน ซึ่งตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวทางการทำงาน จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน และใช้สำนวนที่เข้าใจง่ายคือ เรียนดี มีความสุข เพื่อเดินทางยกระดับคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เมื่อการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไปทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น
สภาพปัญหาปัจจุบัน จากการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบปัญหาในการแก้โจทย์ปัญหาของนักเรียน คือ ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะพื้นฐานในการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา อย่างมีระบบ ทำให้นักเรียนไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาที่กำหนดให้ได้ถูกต้องตามหลักการทางคณิตศาสตร์ ส่งผลให้การประเมินการทดสอบระดับชาติ(NT) ด้านคณิตศาสตร์ มีค่าเฉลี่ยในระดับโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ซึ่งจากวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน(NT) ในปีการศึกษา 2565 พบว่า ค่าเฉลี่ยในระดับโรงเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ร้อยละ 14.12 โดยค่าเฉลี่ยในระดับโรงเรียน เท่ากับร้อยละ 35.00 ส่วนค่าเฉลี่ยระดับประเทศ เท่ากับร้อยละ 49.12 (อ้างอิงจากรายงานผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน NT 2565)
1.2 แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา
จากการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ในปีการศึกษา 2565 ประกอบกับ การปฏิบัติการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำภาคน้อย ปีการศึกษา 2566 เรื่อง การบวก ลบ คูณ หารระคน ได้สังเกตการตอบคำถามและการแสดงวิธีทำในแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ พบว่า นักเรียนมีปัญหาด้านการดำเนินการแก้โจทย์ปัญหา เนื่องจากไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ถูกต้อง พร้อมทั้งมีผลการทดสอบ เรื่อง การบวก ลบ คูณ หารระคน อยู่ในระดับปรับปรุงและพอใช้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านการคิดคำนวณที่ดีขึ้น ครูผู้สอนจึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ร่วมกับการพัฒนานวัตกรรม ชุดแบบฝึกเสริมทักษะ สนุกคิดส์ กับคณิตศาสตร์ มาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เป็นแบบฝึกทักษะที่เน้นการเสริมแรงทางบวกให้นักเรียน ท้าทายความสามารถ เข้าใจง่าย เห็นภาพประกอบที่ชัดเจน มีรูปแบบสวยงามและสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง อันจะส่งผลให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคนอย่างหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทดสอบระดับชาติ (NT) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบระดับชาติ (NT) ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 ได้ ซึ่งทางผู้สอนเห็นว่า ชุดแบบฝึกเสริมทักษะมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในรายวิชาที่มีการคำนวณเป็นอย่างมาก เพราะการได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้หรือสร้างองค์ความรู้ให้เกิดในตนเอง จนเกิดเป็นทักษะความชำนาญ ความรู้คงทน อีกทั้งชุดแบบฝึกเสริมทักษะยังเป็นเครื่องมือวัดผลการเรียนหลังจากการเรียนรู้และสามารถทบทวนได้ด้วยตนเอง ทำให้ครูมองเห็นปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียนได้ชัดเจน ตลอดจนสามารถฝึกฝนได้เต็มที่และเห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของนักเรียน ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมายเกิดความภาคภูมิใจและมีเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นตามสำนวนที่ว่า เรียนดี มีความสุข จึงได้พัฒนาชุดแบบฝึกเสริมทักษะสนุกคิดส์ กับคณิตศาสตร์ นี้ขึ้น ซึ่งมีจำนวน 2 เล่ม ดังนี้
เล่มที่ 1 ประกอบด้วยเนื้อหา ทบทวนการบวกและการลบ ทบทวนการคูณและการหาร หลักการวิเคราะห์โจทย์ปัญหาและคำสำคัญ โจทย์ปัญหาที่มีการบวกและการลบ โจทย์ปัญหาที่มีการคูณและการหาร และการแก้โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หารระคน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนจนเกิดทักษะที่แม่นยำ
เล่มที่ 2 จะประกอบด้วยเนื้อหา การตะลุยโจทย์ NT ย้อนหลังตั้งแต่ ปีการศึกษา 2560-2565 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ลักษณะของโจทย์ปัญหาและแนวข้อสอบที่นักเรียนจะได้เข้ารับการทดสอบใน ปีการศึกษาปัจจุบัน เพื่อเป็นการซ้ำย้ำทวน ให้เกิดความเข้าใจที่คงทน และสามารถนำไปปรับใช้ในการทดสอบระดับชาติ (NT) ปีการศึกษา 2566 ได้จริง
1.3 จุดประสงค์และเป้าหมายการดำเนินงาน
เชิงปริมาณ 1) เพื่อพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หารระคน ของนักเรียนให้มี ผลคะแนนการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าร้อยละ 70 (ผ่านเกณฑ์ระดับดีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
2) เพื่อยกระดับผลการทดสอบระดับชาติ (NT) ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำภาคน้อย ปีการศึกษา 2566 ให้สูงกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 3
เชิงคุณภาพ 1) เพื่อยกระดับผลการทดสอบระดับชาติ (NT) ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำภาคน้อย ปีการศึกษา 2566 ให้สูงกว่าระดับประเทศ
2) เพื่อพัฒนาชุดแบบฝึกเสริมทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หารระคน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำภาคน้อย สำหรับการเตรียม ความพร้อมในการเข้ารับการทดสอบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT)
2. ขั้นตอนการดำเนินงาน
การดำเนินงานเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาจากการรายงานผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน NT ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 พบว่า มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยด้านวิชาคณิตศาสตร์ระดับโรงเรียน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ กว่าร้อยละ 14.12 และมีผลการวิเคราะห์ระดับคุณภาพตามมาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปรับปรุงและพอใช้ พร้อมทั้งการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยศึกษาจากตัวอย่างครูผู้มีความชำนาญด้านการสอนคณิศาสตร์และเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะครูภายในและภายนอกโรงเรียน (PLC) เพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียน พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องต่อบริบทของผู้เรียนและมีความเหมาะสมกับสภาพปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบระดับชาติ (NT: National Test) ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำภาคน้อย ดังนี้
2.1 การออกแบบผลงาน/นวัตกรรม
การดำเนินการพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หารระคน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์
การสอบ (NT) ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Enjoy kids Model ร่วมกับชุดแบบฝึก เสริมทักษะ สนุกคิด กับคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้เริ่มต้นด้วยระบบวงจรคุณภาพ (PDCA) ได้พัฒนามาจากกระบวนการ PDCA คือ วงจรการบริหารงานคุณภาพ (สุธาสินี โพธิจันทร์, 2558. : ออนไลน์ ) ย่อมาจาก 4 คำ ได้แก่ Plan (วางแผน), Do (ปฏิบัติ), Check (ตรวจสอบ) และ Act (การดำเนินการให้เหมาะสม) (วชิระ อินทร์อุดม : 2539)
2.2 จัดกระบวนการเรียนรู้ ตาม Enjoy kids Model เพื่อพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาของนักเรียนไปพร้อมกับการสร้างความสนุกสนานในการเรียน ใช้กระบวนการเสริมแรงทางบวกให้นักเรียน มีความกระตือรือร้นในการฝึกฝนตนเอง จนบรรลุจุดมุ่งหมาย ซึ่ง Enjoy kids Model มี 6 องค์ประกอบดังนี้
1. Enjoy classroom - สนุกกับชั้นเรียน
สร้างบรรยากาศห้องเรียนให้มีความสนุกสนาน นำเข้าสู่บทเรียนด้วยการบริหารสมอง โดยนักเรียนทุกคนได้ร่วมกิจกรรม เข้าจังหวะหรือการใช้เพลง อาทิ เพลงตบมือ ตบตัก ตบไหล่ เพื่อกระตุ้นความสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างความสนุกสนานและเตรียมพร้อมก่อนเรียน
2. Enjoy Leaning - สนุกกับการเรียนรู้
เน้นให้นักเรียนได้เรียนผ่านกิจกรรม Active Leaning สร้างภาพจำและเจตคติที่ดีต่อการคิดคำนวณ ให้รายวิชาคณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าค้นหา เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น โดยมีแนวคิดที่ว่า หากเราทำให้สิ่งที่ยาก(การทำโจทย์ที่รู้สึกว่ายาก)ได้สำเร็จ เราก็จะกลายเป็นผู้ที่เยี่ยมยอด โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สิ่งที่โจทย์ถาม สิ่งที่โจทย์กำหนด คำสำคัญ การแสดงวิธีทำและการค้นหาผลลัพธ์ที่ถูกต้อง
3. Enjoy Doing สนุกกับการลงมือทำ
เน้นให้นักเรียนได้ลงมือทำการแก้ไขโจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน โดยการค้นหาคำตอบจากโจทย์ที่กำหนดให้ผ่านการทำกิจกรรมหรือ แบบฝึกเสริมทักษะ ลงมือทำใบงาน ซึ่งมีทั้งเป็นใบงานทั่วไป และใบงานสามมิติ โดยมีรูปแบบที่หลากหลายให้นักเรียนรู้สึกตื่นเต้น อยากลงมือทำ ซึ่งลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายมีทั้งงานกลุ่มและงานเดี่ยว เพื่อให้เพื่อนในกลุ่มได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
4. Enjoy Creation สนุกกับการคิดสร้างสรรค์
ให้นักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการของตนเองลงในใบงาน 3 มิติ ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์เอกลักษณ์และก่อเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง ให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการเล่น ทำให้มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและพัฒนาผลงานต่อไป
5. Enjoy Exchange สนุกกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ
เมื่อนักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้นักเรียนออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อแสดงผลงาน แสดงวิธีการค้นหาคำตอบและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการคิดหาคำตอบว่าเหมือนหรือแตกต่างกับเพื่อนคนอื่นหรือไม่ โดยการนำเสนอหน้าชั้นเรียนแล้วให้เพื่อนเสนอข้อคิดเห็นหรือชื่นชม
6. Enjoy Feedback สนุกกับการสะท้อนผลการเรียนรู้สู่ครูผู้สอน
เมื่อบรรยายการเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ผ่อนคลาย ย่อมส่งผลให้นักเรียน มีความกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูดหรือกล้าถามในสิ่งที่ตนเองยังไม่เข้าใจ พร้อมทั้งเปิดใจยอมรับฟังข้อเสนอแนะจากคุณครูและเพื่อนๆในชั้นเรียน เพื่อนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาระคนของตนเองให้ดีขึ้น นอกจากนั้นครูผู้สอนเองจะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากผู้เรียนไปวิเคราะห์พัฒนา ปรับปรุงการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากพบว่านักเรียนที่พัฒนาช้ากว่าเพื่อน ก็จะให้เรียนซ่อมเสริมเพิ่มเติมช่วงหลังเลิกเรียน
3.ผลการดำเนินงานและประโยชน์ที่ได้รับ
3.1 ผลสำเร็จที่ได้
3.1.1 นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หารระคน ให้มี ผลคะแนนการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าร้อยละ 70 (ผ่านเกณฑ์ระดับดีขึ้นไป) จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 85.71 ของนักเรียนทั้งหมด (อ้างอิงจากวิจัยในชั้นเรียน ปีการศึกษา 2566)
3.1.2 นักเรียนเป็นผู้ที่สอบได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ในความสามารถด้านคณิตศาสตร์ จากการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 1 คน
(อ้างอิงจาก เกียรติบัตรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขที่ สทศ54908/2567)
3.1.3 โรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน(NT) ในความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ
(อ้างอิงจาก แบบสรุปรายงานผลการประเมินของของโรงเรียน /School01)
3.1.4 โรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน(NT) ในความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าปีการศึกษา 2565 ร้อยละ 47.00
(อ้างอิงจาก แบบรายงานผลการประเมินของโรงเรียนย้อนหลัง 3 ปี /School08)
3.1.5 โรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน(NT) ในความสามารถทั้งรวม 2 ด้าน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ
(อ้างอิงจาก แบบสรุปรายงานผลการประเมินของของโรงเรียน /School01)
3.1.6 โรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน(NT) ในความสามารถทั้งรวม 2 ด้าน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าปีการศึกษา 2565 ร้อยละ 43.78
(อ้างอิงจาก แบบรายงานผลการประเมินของโรงเรียนย้อนหลัง 3 ปี /School08)