การใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)
ส่วนที่ 1 : ความสำคัญของผลงาน นวัตกรรม หรือวิธีปฏิบัติที่นำเสนอ
เด็กปฐมวัยถือว่าเป็นวัยของการเริ่มต้นเรียนรู้การใช้ชีวิต และการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และสิ่งที่ดีงาม ตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่พึงต้องเกิดขึ้นในตัวเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในการเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์การต่าง ๆ ในปัจจุบัน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับตัวเด็กตลอดเวลา การปลูกฝังทักษะชีวิตให้กับเด็กจึงควรจะเริ่มปลูกฝังในวัยนี้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2554) ได้กำหนดทักษะชีวิตของเด็กปฐมวัยไว้ในของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 ในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ทั้ง ๔ ด้าน ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต (Life skills) เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา และความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น มีความสามารถจัดการกับความกดดัน ความบีบคั้น ปัญหารอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต
การส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตของเด็กปฐมวัย ให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ที่ชอบการเรียนรู้ ชอบค้นคว้าหาคำตอบในเรื่องต่าง ๆ ที่สงสัย ชอบการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว สื่อ การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เพราะการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้จำเป็นต้องการผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เป็นประสบการณ์ตรงที่เน้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ด้วยรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งห้านี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้และค้นพบด้วยตนเองได้ ดังนั้น สื่อ จะเป็นตัวกลางที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนด สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร เพื่อส่งผลให้บรรลุจุดหมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไปได้
ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตในเด็กปฐมวัย โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านการใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกการใช้ทักษะชีวิต ในด้านความรู้ ทักษะพื้นฐาน เจตคติที่ดีในการดำรงชีวิต การปรับตัว หรือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยมีสื่อที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย เป็นตัวกลางที่ช่วยกระตุ้นในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ และค่านิยมไปสู่ผู้เรียนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับวัย ที่เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เล่น ได้ลงมือปฏิบัติจริง และได้รับประสบการณ์ตรง เพราะจะทำให้เด็กได้มีโอกาสฝึกการใช้ทักษะชีวิต และแก้ปัญหาโดยตรง เพื่อเป็นการเกื้อกูลให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และการใช้ชีวิตของเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปรียบเทียบผลการพัฒนาการของเด็กตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งยังเป็นการบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอีกทาง เพื่อเตรียมความพร้อมของทักษะชีวิตที่จำเป็นในเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต พร้อมที่จะพัฒนาประเทศ และร่วมกันสร้างสังคมที่ดีต่อไป
จุดประสงค์
เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการสร้างทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ด้วยการใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S
เป้าหมาย
 เชิงปริมาณ
เด็กปฐมวัยชั้นปีที่ ๑ จำนวน 27 คน ที่ได้รับการจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาด้วยนวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S เกิดเป็นทักษะชีวิตที่ยั่งยืน มีผลการประเมินพัฒนาการระดับ ดี ร้อยละ 95
 เชิงคุณภาพ
เด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ทุกคนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืน ด้วยการใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
3.1 การออกแบบผลงานนวัตกรรม
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรบเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ( อายุ 3-4 ปี ) โดยใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S มีหลักการและแนวคิดการออกแบบ จากการมุ่งเน้นการปลูกฝังทักษะชีวิตที่ยั่งยืนให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่พึงต้องเกิดขึ้นในตัวเด็ก ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เด็กสามารถปรับตัว และเปลี่ยนแปลงพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเกิดทักษะที่จำเป็นด้านต่าง ๆ เพื่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การเอาตัวรอด และการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเหมาะสม
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรบเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ( อายุ 3-4 ปี ) โดยใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S มีแนวคิดรองรับสำคัญในการออกแบบนวัตกรรม 2 แนวคิด ได้แก่
แนวคิดที่ 1 การเรียนรู้แบบไฮสโคป (High Scope) เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น โดยการให้โอกาสเด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระ มีหลักปฏิบัติ 3 ประการ ได้แก่ การวางแผน ,การปฏิบัติ และการทบทวน
แนวคิดที่ 2 เรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning) เป็นการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ผ่านการทำการทำกิจกรรม การลงมือปฏิบัติจริงในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกปฏิบัติ ฝึกทักษะ ไปจนถึงค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองสนใจหรือถนัดด้วยตนเอง เพื่อใช้เป็นแรงจูงใจและมีความสุขในการเรียน การเรียนการสอนในรูปแบบนี้ผู้สอนจะลดบทบาทของตัวเองในการสอนและการให้ความรู้กับผู้เรียนโดยตรงลงแล้วเปลี่ยนมาสนับสนุน เพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรบเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ( อายุ 3-4 ปี ) เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตที่ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S ได้นำการผลการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ( อายุ 3-4 ปี ) มาวิเคราะห์ (Results Analysis) เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาให้มีผลระดับคุณภาพที่สูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และการนำทฤษฎีหลักการของวงจรเดมมิ่ง (PDCA : Plan, Do, Check, Action) เข้ามาใช้ร่วมด้วยเพื่อควบคุมคุณภาพและดำเนินงานตามกระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติงาน
3.2 การดำเนินงานตามกิจกรรม
การวางแผน (Plan)
ขั้นตอนที่ ๑ ( S : Study ) เป็นกระบวนการศึกษา รวบรวมข้อมูล เพื่อนำแนวทางมาจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ให้เหมาะสมกับวัย และศึกษาผลการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ( อายุ 3-4 ปี) ในปีการศึกษา 2565 เพื่อนำมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน (SWOT Analysis) ในทั้ง ๔ ด้าน และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 จำนวน 12 มาตรฐาน โดยมีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1.1 การศึกษา รวบรวมข้อมูลการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้น ปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)
1.1.1 ศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 และหลักสูตรสถานศึกษา พุทธศักราช 256๖
1.1.2 ศึกษาการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3-4 ปี
1.1.3 ศึกษาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบ Active Learning สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3-4 ปี
1.1.4 ศึกษาสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ให้เหมาะสมกับวัย
1.1.5 ศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1.2 ศึกษาผลการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ( อายุ 3-4 ปี) ในปีการศึกษา 2565
1.3 ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วางแผนและออกแบบการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ร่วมกันกับผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครู ระดับปฐมวัย เพื่อสรุปประเด็นและทักษะที่จะต้องพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น หรือมีระดับคุณภาพที่สูงขึ้น ตามลำดับที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริม
1.4 ประชุมผู้ปกครองนักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทาง และร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี
การปฏิบัติ (DO)
ขั้นตอนที่ 2 ( S : Student ) เป็นการนำแนวทางในการศึกษาข้อมูลมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
2.1 ครูดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้หน่วยการเรียนรู้สื่อ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ได้ร่วมกันออกแบบ โดยเน้นการใช้รูปแบบ Active Learning ที่เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ผ่าน สื่อ ที่เป็นตัวกลางในการช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนด สอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร โดยสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย หมายถึง บุคคล สถานที่ สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก ทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติและสิ่งที่สร้างหรือสิ่งที่ผลิตขึ้นรวมถึง สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก ระยะเวลา 12 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2566 8 มีนาคม 2567
2.2 ผู้ปกครองนักเรียนดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โดยช่วยสังเกตพฤติกรรมในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่บ้าน ตามแนวทางและบันทึกผลลงในเล่มแบบฟอร์มดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ระยะเวลา 12 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2566 8 มีนาคม 2567 ซึ่งผู้ปกครองสามารถสอบถามแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มเติมได้ทางไลน์ห้องเรียน
การตรวจสอบ (Check)
ขั้นตอนที่ 3 (S : Skills) เป็นการประเมินผลทักษะชีวิตของเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ที่เกิดจากการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
3.1 ศึกษาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล
3.2 สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ซึ่งมี ๔ เครื่องมือ ดังนี้
1. แบบรายงานผลการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)
2. แบบบันทึกผลการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนของเด็กปฐมวัยปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)
3. แบบสอบถามความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)
4. แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองเด็กปฐมวัยปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี)
การปรับปรุงแก้ไข (Act)
ขั้นตอนที่ 4 (S : Start-up) เป็นการนำผลการประเมินมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไปให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
4.1 การนำผลการประเมินที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้น
4.2 การเผยแพร่
4.3 การขยายผลต่อยอด และประยุกต์ใช้นวัตกรรม
สรุป นวัตกรรม Long Life Skills Model : 4S เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) โรงเรียนวัดโคกสมานคุณ ๔ ขั้นตอน คือ ๑) S : (Study) การศึกษา ออกแบบ และวางแผน ๒) S : (Student) การนำแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตลงสู่เด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) 3) S : (Skills) การประเมินผลทักษะชีวิต ๔) S : (Start-up) การนำผลการประเมินมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไปให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น