ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้
ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้วิจัย จันทร์เพ็ญ สันวงค์
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการในการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3. เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตส ซอรี่เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 และ 4. เพื่อประเมินและปรับปรุงรับรองรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเด็กชายและเด็กหญิงชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านเก่า) กองการศึกษา เทศบาลตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จำนวน 27 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ได้แก่ 1) แบบสอบถามความคิดเห็น 2) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง 3) แบบวิเคราะห์ข้อมูลการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) 4) คู่มือการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ 5) ชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ จำนวน 30 กิจกรรม 6) แผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 30 แผน 7) แบบวัดความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ จำนวน 4 ชุด 8) แบบสอบถามความพึงพอใจ และ 9) แบบประเมินการปรับปรุง แก้ไข รูปแบบการจัดประสบการณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าประสิทธิภาพ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการในการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า สภาพปัจจุบันปัญหา โดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับมาก (x̄= 3.92, S.D. = 0.69) โดยด้านแนวทางการจัดประสบการณ์เรียนรู้ มีปัญหามากที่สุด (x̄= 3.97, S.D. = 0.68) และด้านการนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 สู่การปฏิบัติ มีปัญหาน้อยที่สุด (x̄= 3.65, S.D. = 0.69) ความต้องการจำเป็นในการจัดประสบการณ์ที่ส่งผลต่อการส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีดังนี้ 1) ด้านหลักสูตร พบว่า ควรมีการศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 โดยมุ่งเน้นพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม พัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ให้เด็กเจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย 2) ด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ พบว่า ควรมีการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์โดยยึดเด็กเป็นสำคัญ เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตัวเด็กเอง ให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า และพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ มีความเข้าใจนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัย 3) ด้านสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้ พบว่า ควรส่งเสริมให้ครูมีความรู้ในการใช้สื่อ วัสดุเฉพาะของอุปกรณ์มอนเตสซอรี่ให้มีความชำนาญ และขั้นตอนแบบแผนที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ เกิดความสนใจ กระตือรือร้น เรียนรู้อย่างมีความสุขจากการเล่น และ 4) ด้านการวัดประเมินผล พบว่า ควรวางแผนด้านการวัดประเมินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เลือกใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ประเมินผลตามสภาพจริง เหมาะสมกับเด็กและตามพัฒนาการของเด็ก
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีชื่อว่า Montes 6 Stages Model (มอนเตส ซิกส์ สเต็จส์ โมเดล) มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. หลักการ 2. วัตถุประสงค์ 3. กระบวนการจัดประสบการณ์ มี 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 กิจกรรมความท้าทายเพื่อการเตรียมความพร้อม (Challenge to Preparing Activity Stage : M1) ขั้นที่ 2 การทบทวนประสบการณ์และการสร้างสถานการณ์การเรียนรู้ที่ทุกคนได้ออกแบบร่วมกัน (Review and Presenting New Material Activity Stage : M2) ขั้นที่ 3 ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ (Seat Working and Coaching Activity Stage : M3) ขั้นที่ 4 การจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ (Memory Learning by doing Activity Stage : M4)ขั้นที่ 5 การสะท้อนความคิดและการศึกษาเพิ่มเติม (Reflections and Exploration Activity Stage : M5) และขั้นที่ 6 การสรุปและการนำไปใช้ (Conclusion and Applying Activity Stage : M6) 4. การประเมินผล และ 5. ปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.32/89.71ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
3. ความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 หลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ โดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนการจัดประสบการณ์เท่ากับ 4.86 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.59 ( = 4.86, S.D. = 0.59) คิดเป็นร้อยละ 54.01 และคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์เท่ากับ 8.07 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.45 (x̄= 8.07, S.D. = 0.45) คิดเป็นร้อยละ 89.71
4. ผลการประเมินการปรับปรุง แก้ไข รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า มีการแสดงความคิดเห็นให้ปรับปรุง แก้ไขขั้นที่ 6 โดยครูควรอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการปฏิบัติกิจกรรมในสิ่งที่เด็กยังมีข้อมูลสงสัยบางประการและเสริมความรู้ใหม่พร้อมกับแนะนำการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ พบว่า นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.98 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.10 (x̄= 2.98, S.D.= 0.10)