๑. ความสำคัญของนวัตกรรม
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับขึ้นทรงราชย์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ความว่า ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์ ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง โดยขอให้รัฐบาลทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนมีความสุขให้มากที่สุด พร้อมสานต่อ แนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงทำมาตลอด ๗๐ ปีที่ผ่านมาไม่ให้น้อยลงไปกว่าเดิม มุ่งเน้นสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน ๔ ด้าน ตามพระบรมราโชบาย ด้านการศึกษา ได้แก่ ๑) การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ๒) การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม ๓) การมีงานทำ-มีอาชีพ และ ๔) ความเป็นพลเมืองที่ดีสอดคล้องกับความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไป เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้คุณธรรมจริยธรรม และมีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๔๔)
กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย จึงได้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ในการสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง โดยจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่างๆท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม รู้จักแยกแยะสิ่งผิด-ชอบ/ชั่ว-ดี ปฏิบัติ แต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม รู้จักปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว รวมทั้งนโยบายด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยส่งเสริม การจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม จนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ๒๕๖๕)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ มาเป็นหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับหน่วยงานในสังกัดนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืนตามรอยพระยุคลบาทอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง ๔ ด้าน โดยการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ๒๕๖๕)
โรงเรียนวัดศรีประชาราม เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ตั้งอยู่ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เปิดทำการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๒ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรีเขต ๒ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ สู่การปฏิบัติ โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนทั้ง ๔ ด้าน ในรูปแบบการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง ๔ ด้าน
จากเหตุผลดังกล่าวโรงเรียนวัดศรีประชารามจึงได้สร้างรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้รูปแบบ KING : ๔ Model ตามรอยพ่อสานต่อพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศในการขับเคลื่อนพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ๒) การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม ๓) การมีงานทำ-มีอาชีพ และ ๔) ความเป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งได้ทดลองใช้ในโรงเรียนวัดศรีประชาราม แล้วนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สำเร็จต่อไป
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา
๒.๒ เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง การเป็นพลเมืองดี และมีงานทำ
มีอาชีพ ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐
๒.๓ เพื่อขับเคลื่อนรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยใช้รูปแบบ KING : ๔ Model ตามรอยพ่อ สานต่อพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ
๓.ผลสำเร็จ
๑. นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดี มีจิตสำนึกที่ดีและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทั้ง ๔ ด้าน
๒ ผู้บริหาร ครู มีความรู้ ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดี มีแนวทางในการสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวง.รัชกาลที่ ๑๐
๓. โรงเรียนมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ สู่การปฏิบัติ รวมถึงมีนวัตกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษาที่ใกล้เคียงกันได้
๔. ผู้ปกครองมีความพึงพอใจและชื่นชมโรงเรียนที่มีการสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นเด็กดีสามารถช่วยเหลืองานในครอบครัวได้
๕ . ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อน การน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ สู่การปฏิบัติ และมีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียน