ข้อมูลการนำเสนอผลงาน นวัตกรรม/วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๒
ชื่อผลงาน
การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL โดย นางสาวปริศนา ป้องปิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนรวมราษฎร์สามัคคี สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๒ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗
๑. ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
๑.๑ ความเป็นมาและสภาพของปัญหา
ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชาติ กระบวนการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ที่จำเป็นในด้านการสื่อสารทั้ง ๔ ด้าน คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ให้มีประสิทธิภาพโดยจะต้องให้ผู้เรียนเข้าใจหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง ครูผู้สอนต้องหาเทคนิคให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชามากยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มาตรา ๒๓ มีสาระสำคัญ คือ การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ ในฐานะภาษาประจำชาติ เป็นมรดกอันล้ำค่าที่คนไทยทุกคน ควรช่วยกันรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป การเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะ และประสบการณ์ในการจัดประสบการณ์ทางด้านภาษา ประกอบด้วยทักษะการฟัง การพูด การ อ่าน และ การเขียนเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของโรงเรียน และครูผู้สอนที่จะจัดการเรียนการสอน ให้ผู้เรียน (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๕๑ : ๑) หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ จึงได้กำหนดสาระหลักไว้ ๕ สาระ ได้แก่ การอ่าน การเขียน การฟังและการพูด หลักการใช้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรม (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๕๑ : ๑)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดกลยุทธ์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การศึกษาเพื่อเร่งรัด ส่งเสริม และพัฒนาให้หน่วยงานในสังกัดนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีกลยุทธ์และจุดเน้นที่สำคัญหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งพัฒนาการอ่าน การเขียน และการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ภาษาไทย ส่งเสริมให้นักเรียนระดับช่วงชั้นที่ ๑ อ่านออก เขียนได้ ระดับช่วงชั้นที่ ๒ เป็นต้นไป อ่านคล่อง เขียนคล่อง ใช้ภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเรียนรู้สาระการเรียนรู้อื่น เพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อการสื่อสาร สื่อความคิดได้ตามเจตนารมณ์ บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะนี้ต่างเน้นให้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เสมือนเป็นปัจจัยที่ห้าของการดำรงชีวิตของพลเมืองโดยส่งเสริมให้เด็กของตนสนใจ และใช้เวลาว่างเพื่อการอ่านทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน ให้อ่านหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นภาษาแม่ และภาษาต่างประเทศ เพราะประจักษ์ว่าหากพลเมืองในประเทศมีความสามารถในการอ่าน รู้จักเลือกนำความรู้และความคิดไปพัฒนาตนแล้วประเทศก็จะเจริญรุ่งเรือง
จากที่กล่าวมาข้างต้น โรงเรียนรวมราษฎร์สามัคคี ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๒ เป็นโรงเรียน จึงได้วิเคราะห์ผลการทดสอบความสามารถในการอ่าน (Reading Test : RT) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๕ มีผลการทดสอบความสามารถการอ่านออกเสียง คะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๗๕.๒๑ (คะแนนเฉลี่ยประเทศ ๗๗.๓๘) และมีความสามารถการอ่านรู้เรื่อง คะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๗๘.๒๘ (คะแนนเฉลี่ยประเทศ ๗๗.๑๙) รวมเฉลี่ยทั้ง ๒ ด้าน มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๗๖.๗๕ (คะแนนเฉลี่ยประเทศ ๗๗.๒๘) ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยประเทศ ซึ่งสถานศึกษาเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำนวัตกรรมการบริหารการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL ขึ้น
๑.๒ แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา
โรงเรียนรวมราษฎร์สามัคคี เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๒ เปิดทำการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล ๒ ถึงระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๖ ได้เล็งเห็นความสำคัญของนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ ๒๑ และสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ จากความสำคัญและปัญหาดังกล่าว โรงเรียนจึงได้พัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน
๒. จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
๒.๑ การกำหนดจุดประสงค์และเป้าหมาย
วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน ดังนี้
๒.๑.๑ เพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้
๒.๑.๒ เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถด้านภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น
๒.๒ เป้าหมายของการดำเนินงาน
๒.๒.๑ ด้านปริมาณ
๑. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่๑ ทุกคนได้รับการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน
๒. ผลการประเมิน Reading Test : RT ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า ปีการศึกษา ๒๕๖๕
๒.๒.๒ ด้านคุณภาพ
๑. ผลการประเมิน Reading Test : RT ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
๒. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ อ่านออก เขียนได้ ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร
๓. ครูผู้สอนภาษาไทยพัฒนาสื่อ นวัตกรรมสำหรับใช้แก้ปัญหา พัฒนาผู้เรียนด้านการอ่าน การเขียนและยกระดับผลสัมฤทธิ์การอ่านการเขียนภาษาไทยได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
๓. กระบวนการผลิตผลงาน/ขั้นตอนการดำเนินงาน
๓.๑ การออกแบบผลงาน/นวัตกรรม
๓.๑.๑ ขั้นการเตรียมการ
ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และอุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมได้แก่ ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา และหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน เพื่อกำหนดรูปแบบขอบข่ายในการพัฒนาสร้างรูปแบบการบริหารที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและเพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL
๓.๑.๒ ขั้นการออกแบบการดำเนินงาน
๑. ศึกษาความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนรูปแบบการสร้างนวัตกรรม การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL ได้สังเคราะห์มาจากกระบวนการวงจรคุณภาพเดมมิ่ง PDCA และทฤษฎีการบริหารเชิงระบบ กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร โดยนวัตกรรม การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่านการเขียน ด้วยรูปแบบ RUAMRAT MODEL ประกอบด้วย