บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย ประเมินผลโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
ชื่อผู้วิจัย นางรำไพ ผ่อนจตุรัส
ปี พ.ศ. 2566
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation Research) โดยใช้รูปแบบของไทเลอร์
มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินผลโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ของครู กศน. และ 2) ประเมินการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์
ของนักศึกษา กศน.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยได้กำหนด ประชากร คือ ครู กศน.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ปฏิบัติงานสอนนักศึกษา กศน.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 15 คน สำหรับกลุ่มตัวอย่าง คือนักศึกษา กศน.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ใน
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 180 คน ผู้วิจัยได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้ตารางเครซี่และมอร์แกน ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 123 คน และสุ่มกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย(Simple random sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามขึ้น 2 ชุด โดยชุดที่ 1 สำหรับ ครู กศน. เป็นแบบสอบถามเพื่อประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ในด้านต่าง ๆ จำนวน 4 ด้าน คือ ด้านการวางแผนปฏิบัติงาน ด้านการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงาน ด้านการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง และด้านการประเมินผลโครงการฯ ส่วนชุดที่ 2 สำหรับนักศึกษา กศน.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นแบบสอบถามเพื่อประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ในด้านต่าง ๆ จำนวน 3 ด้าน คือ ด้านการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ ด้านคุณภาพของระบบห้องเรียนออนไลน์ และ ด้านการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยได้ใช้สถิติ ดังนี้ 1) สถิติพื้นฐาน สำหรับประชากร ได้แก่ ค่าเฉลี่ยประชากร (μ) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานประชากร (σ) สำหรับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x ̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) 2) การหาคุณภาพของเครื่องมือ ได้แก่ การหาค่า
ความตรง (IOC) และความเชื่อมั่น (Reliability) โดยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า (Alpha - coefficient : α - coefficient) ของครอนบาค (Cronbach)
จากการวิจัยเชิงประเมินครั้งนี้ พบว่า ครู กศน. มีความเห็นเกี่ยวกับโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ดังนี้ 1) ด้านการวางแผนปฏิบัติงาน พบว่า
ครู กศน.มีความเห็นว่า มีความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาชั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) และวัตถุประสงค์ของโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก" 2) ด้านการดำเนินการ พบว่า ครู กศน.มีความเห็นด้วยกับการอบรม / ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครู กศน. การทำแบบทดสอบรายวิชาโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก" 3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครู กศน.มีความเห็นด้วยกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้/สร้างปฏิสัมพันธ์และการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก" และ 4) ด้านการประเมินผลโครงการ พบว่า ครู กศน.มีเจตคติที่ดีต่อการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ และมีความพึงพอใจที่ระบบห้องเรียนออนไลน์ช่วยให้นักศึกษา กศน.มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ช่วยให้นักศึกษา กศน.มีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ในภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก"
นอกจากนี้ยังพบว่า นักศึกษา กศน.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 มีความเห็นเกี่ยวกับโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) ด้านการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ ในภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก" 2) ด้านคุณภาพของระบบห้องเรียนออนไลน์ ในภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก" และ 3) ด้านการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองในภาพรวมอยู่ในระดับ "มาก"
โดยสรุปการประเมินผลโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอยางชุมน้อย
จังหวัดศรีสะเกษ ในภาพรวม มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่มุ่งพัฒนา ครู กศน. ให้มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ และมุ่งพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา กศน. โดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ส่งผลให้ ครู กศน.และ นักศึกษา กศน.มีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งผ่านตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด สมควรนำระบบห้องเรียนออนไลน์ไปใช้กับนักศึกษา กศน.ทุกระดับ