ความเป็นมา
กระบวนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรแล้ว โรงเรียนจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพที่พึงมี ขณะที่สภาพแวดล้อม ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและค่อนข้างสับสนซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การสร้างมาตรการในการสร้างภูมิคุ้มกันปกป้องส่งเสริมนักเรียนในทางที่เหมาะสม จึงเป็นภาระสำคัญของสถานศึกษา ทั้งนี้ โดยอาศัยการผนึกพลังการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใกล้ชิด เข้าถึง และเข้าใจนักเรียนมากที่สุด พวกหนึ่งคือ เพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง และถ้านักเรียนได้รับการปลูกฝัง ให้มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถทางด้านจิตวิทยา การให้คำปรึกษาเบื้องต้น จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยง แก้ปัญหาที่นักเรียนเผชิญอยู่ได้มาก
โรงเรียนพุทไธสง มีความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จึงได้จัดโครงการนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา YC ขึ้น เพื่อรับการปรึกษาปัญหาต่างๆของนักเรียน โดยเปิดรับสมัครสมาชิกด้วยความสมัครใจ และมีการจัดตั้งชุมนุม YC ขึ้นในโรงเรียน โดยรับสมัครเป็นผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความสามารถในการวิเคราะห์ มีจิตอาสา มีทักษะในการรับฟังและการให้คำปรึกษา แก่เพื่อนๆตลอดจนรุ่นพี่และรุ่นน้อง ในกรณีที่มีปัญหาไม่ซับซ้อน เพื่อเป็นการ ให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาเบื้องต้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียน ปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งเป็นรากฐานเพื่อการปฏิบัติงาน โดยการดูแลชี้แนะอย่างใกล้ชิดจากครูแนะแนว
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดตั้งกลุ่มนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา ( Youth Counselor : YC )
2. เพื่อให้กลุ่มนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของวัยรุ่น แนวทางการช่วยเหลือที่มีปัญหา และบทบาทของเพื่อนที่ปรึกษา
3. เพื่อช่วยเหลือครูแนะแนวในการดำเนิน กิจกรรม โครงการต่าง ๆ
4. เพื่อส่งเสริมป้องกัน แก้ไข พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ตามแนวทางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
5. เพื่อให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
6. เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนกับบ้าน
7. เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการดำรงชีวิตและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
วิธีดำเนินการ
เริ่มจากการเสนอโครงการ ประชุมชี้แจงโครงการ ประชุมเพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติกิจกรรม แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ชี้แจงวิธีการดำเนินงาน จากนั้นได้ดำเนินการตามกิจกรรมดังนี้
1.ดำเนินการพิจารณารับสมัครนักเรียนเพื่อเข้าเรียนชุมนุม YC เพื่อนที่ปรึกษา และแต่งตั้งหัวหน้าห้องทุกห้องให้เป็นเยาวชนอาสา YC ขึ้น โดยนักเรียนในชุมนุม YC นั้นจะคัดสรรนักเรียน ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มีจิตอาสา มีทักษะในการรับฟังและการให้คำปรึกษา เพื่อนๆไว้วางใจให้คำปรึกษามากที่สุด และสามารถเก็บความลับของเพื่อนที่มาปรึกษาได้ดี เป็นแกนนำนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 269 คน คือ
1.1 นักเรียนแกนนำกลุ่ม YC จำนวน 150 คน
1.2 เยาวชนอาสา YC จากสภานักเรียนและ TO BE NUMBER ONE จำนวน 30 คน
1.3 สมาชิกชุมนุม YC จำนวน 156 คน
1.4 นักเรียนพิเศษเรียนรวม จำนวน 6 คน
2.ครูแนะแนวและครูที่รับผิดชอบ ประชุมชี้แจง และให้ความรู้กับนักเรียนแกนนำ เกี่ยวกับโครงการนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา YC ตามเนื้อหาดังต่อไปนี้
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1. เสนอโครงการผ่านครูแนะแนวเพื่อขออนุมัติตามลำดับขั้นตอน
2. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ประชุมสมาชิกแกนนำและมอบหมาย
3. รับสมัครสมาชิกเครือข่ายชมรมนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา
4. จัดอบรมนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา(YC) โดยครูแนะแนวและวิทยากรภายนอก สร้างความเข้าใจกระบวนบทบาทหน้าที่
5. ดำเนินการตามเป้าหมายของโครงการและสรุปรายงานผล
บันทึกผลหลังการดำเนินโครงการ/กิจกรรม
สรุปผลการให้คำปรึกษาของกลุ่มนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา
จำนวนนักเรียนที่มาขอรับคำปรึกษา ด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคม รวมทั้งหมด 350 คน
จำนวนที่ส่งต่อให้ครูแนะแนว รวมทั้งหมด 23 คน
จำนวนนักเรียนที่ส่งต่อภายนอก รวมทั้งหมด 15 คน
นักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา YC (Youth Counselor) คือใคร ? ...
นักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor) หรือเรียกสั้นๆว่า YC คือ นักเรียนที่รักและปรารถนาดีต่อเพื่อน ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากเพื่อน มีทักษะในการสื่อสาร มีความสามารถในการให้คำปรึกษา และช่วยเหลือเพื่อน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่ว่า ในด้านการเรียนปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาอื่นๆ เป็นฐานความรู้เพื่อการปฏิบัติงาน โดยการดูแล ชี้แนะอย่างใกล้ชิดจากครูแนะแนว
ความสำคัญของนักเรียน YC...
นักเรียน YC มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเพื่อน ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่ ประสบปัญหา มีความวิตกกังวลหรือยุ่งยาก ลำบากใจ ให้เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาของตนเอง และร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันและกัน
นักเรียน YC จึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของเพื่อน สามารถช่วยให้เพื่อนเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นการสร้างความรัก ความศรัทธา ระหว่างเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ได้อีกด้วย
องค์ประกอบในการทำงานให้สำเร็จของนักเรียน YC...
1. คณะผู้บริหาร
2. ครูแนะแนว
3. ครูที่ปรึกษา
4. เครือข่ายผู้ปกครอง
5. นักเรียน
บทบาทของนักเรียน YC
1. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เรื่อง YC
2. จัดตั้งกลุ่มและขยายผล YC ในโรงเรียน
3. ดำเนินการจัดกิจกรรม YC ภายในโรงเรียน
4. เผยแพร่ความรู้ YC สู่โรงเรียนเพื่อนๆน้องๆ ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32
5. ประเมินผลการจัดกิจกรรมนำเสนอโรงเรียนเพื่อพัฒนาเครือข่าย YC ในโอกาส ต่อไป
ลักษณะของ YC
1. รู้จักและยอมรับตนเอง มีความอดทน ใจเย็น 4. มีท่าทีเป็นมิตรและมองโลกในแง่ดี
2. รักษาความลับได้ 5. ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น และช่างสังเกต
3. จริงใจและตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่น 6. ใช้คำพูดได้เหมาะสม 7. เป็นผู้ฟังที่ดี
หลักการสำคัญของการให้คำปรึกษา
1. ยึดถือเอาผู้มีปัญหาเป็นหลัก
2. เน้นที่อารมณ์และความรู้สึกของผู้มีปัญหา
3. เข้าใจและยอมรับในอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้มีปัญหา
4. ไม่ด่วนสรุป หรือตัดสินผู้มีปัญหา
5. เน้นที่ความเป็นจริงตามเหตุการณ์ และสถานการณ์
6. มีการโต้ตอบเป็นจริงตามเหตุการณ์ และสถานการณ์
7. ผู้มีปัญหาเกิดการเรียนรู้ด้วยเหตุของปัญหา และตัดสินใจเลือกทางแก้ไขด้วย ตนเอง
ลักษณะของการให้คำปรึกษาที่ดี
ผู้ให้คำปรึกษาอาจจะเป็นใครก็ได้ที่ยอมรับและเข้าใจความทุกข์ใจของผู้ขอรับคำปรึกษาหรือผู้ประสบปัญหาทางใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ให้สามารถปรับตัวเอง ให้มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน / ครอบครัวและสังคมต่อไปได้ อย่างไม่ทุกข์มากจนเกินไป ผู้ที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาได้ดี ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง
2.มีความเข้าใจคุณค่าความต้องการและความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของมนุษย์ เคารพในสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือกตัดสินการดำเนินชีวิตของตนเอง
3.มีใจเป็นกลาง ยอมรับสภาพตามความเป็นจริงของผู้มีปัญหา
4.มีความเข้าใจเห็นอกเห็นใจความทุกข์ใจของผู้ขอรับคำปรึกษา
5.พร้อมที่จะเรียนรู้ขั้นตอนการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา และฝึกฝนวิธีการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นจนเกิดความชำนาญเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ อย่างเหมาะสม
6.สามารถเก็บรักษาความลับของคนอื่นได้ หากต้องนำเรื่องราวเหล่านี้ไปปรึกษา ผู้อื่นจะต้องปกปิดหลักฐานการเปิดเผยตัวผู้นั้น เช่น ชื่อ สกุล ที่อยู่
7.มีความประพฤติที่เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ยึดหลักธรรมพรหมวิหาร 4 ประจำจิตได้แก่
เมตตา คือ ความอยากให้เขามีความสุข
กรุณา คือ ความอยากให้เขาพ้นทุกข์
มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อเขามีความสุข
อุเบกขา คือ การวางเฉยเมื่อช่วยเขาได้เพียงเท่านี้
รวมทั้งเทคนิคและวิธีการต่างๆ ในการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ฯลฯ
ประโยชน์ที่เกิดกับกลุ่มนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (YC)
1 นักเรียนแกนนำ YC ได้รับการอบรมให้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
2 เป็นที่ไว้วางใจของเพื่อน ๆ นักเรียนทั่วไปในโรงเรียน
3 มีบุคลิกภาพของบุคคลที่มีจิตอาสา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวมและมีจิตอาสา เป็นแบบอย่างที่ดี
4 รู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ทำงานเป็นทีม และมีกระบวนการ มีการวางแผนถ่ายทอดงานต่อรุ่นน้องต่อไป
5 เป็นผู้ช่วยครูแนะแนวในการดำเนินงานบริการแนะแนว และให้คำปรึกษาแก่เพื่อน ๆ นักเรียนอย่างมีประสิทธิผล
ประโยชน์ที่เกิดกับนักเรียนโรงเรียนพุทไธสง
1. นักเรียนที่มีปัญหา มีเรื่องทุกข์ใจไม่สบายใจ ที่ไม่สลับซ้ำซ้อนเกินไป ได้รับการดูแลช่วยเหลือในจากกลุ่มเพื่อนที่ปรึกษา
2. ทำให้ปัญหาลดลงในเบื้องต้นนักเรียนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
3. นักเรียนรู้จักสถานที่ บุคคลที่สามารถไว้วางใจในการขอรับคำปรึกษา
4. มีแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการ สารสนเทศประจำห้องแนะแนวจากผลงานนักเรียน YC
5. มีแบบอย่างที่ดีในการทำงานที่เสียสละด้วยจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น
ประโยชน์ที่เกิดกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
1. ปัญหาที่เกิดกับนักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลือทำให้ปัญหาลดลงอย่างเห็นได้ชัด
2. นักเรียนที่มีปัญหาหนักได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยการส่งต่อของนักเรียน YC ช่วยลดภาระงานของครูในโรงเรียนได้ในระดับหนึ่ง
3. มีนักเรียนแกนนำที่คอยเป็นผู้ช่วยครูในการรับฟัง แก้ไขปัญหาให้เพื่อน ๆ อย่างเข้าใจตามหลักวิชาการและขั้นตอนการให้คำปรึกษา
4. ได้รับข้อมูลที่เป็นจริงและช่วยเหลือนักเรียนได้ตรงประเด็น
5. มีเครือข่ายร่วมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน