การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการสอนโดยประยุกต์หลักอริยสัจ 4 สู่ Active Learning บูรณาการร่วมกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หลักคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 สาระภูมิศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะคือ
1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับพัฒนารูปแบบ การสอน 2) สร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการสอน 3) ทดลองใช้และศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอน และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการสอน
การวิจัยดำเนินการตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหา ในการเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของนักเรียน สภาพการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน จากการสัมภาษณ์นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 10 คน และครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จำนวน 8 คน ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม จำนวน 4 แห่ง และศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการสอนและเอกสารประกอบรูปแบบการเรียนการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน และทดลองนำร่องกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 32 คน ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้และศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอน โดยนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนเทศบาลวัดประทุมคณาวาส (นิพัทธ์หริณสูตร์) จำนวน 28 คน จัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการสอน เรื่อง ภูมิศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลง จำนวน 10 แผน ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอน และขั้นตอนที่ 4 ศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการสอน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาในการเรียนและทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนด ครูผู้สอนเน้นเนื้อหาสาระ และกฎเกณฑ์ต่างๆ เน้นให้จดจำรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นบริบท กิจกรรมไม่น่าสนใจ การฝึกทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ด้านต่างๆ ค่อนข้างน้อย เพราะมุ่งเน้นแต่เนื้อหาสาระที่มีขอบเขตกว้าง และส่วนใหญ่เป็นการเรียนอยู่ในห้องเรียน นักเรียนมีปัญหาในด้านการคิดวิเคราะห์ แยกประเด็นหรือข้อมูลต่างๆ ที่เป็นหลักการ แนวคิด หรือข้อคิดเห็นไม่ได้ นักเรียนขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และยังพบว่านักเรียนมีเจตคติต่อการเรียนในเชิงลบ โดยไม่เห็นความสำคัญของการเรียนโดยเฉพาะเนื้อหาสาระเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ต้องการให้ครูผู้สอนปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหรือวิธีจัดกิจกรรมให้น่าสนใจกว่านี้
2. รูปแบบการสอนโดยประยุกต์หลักอริยสัจ 4 สู่ Active Learning บูรณาการร่วมกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 สาระภูมิศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีองค์ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล และการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พบว่า มีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก (X-bar = 4.59; S.D.=0.20) เมื่อทดลองนำร่องยังพบว่า กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการสอนเป็นขั้นตอนที่สามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอน พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .01 นักเรียนมีทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 อยู่ในระดับดีมาก ( =4.54) และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนอยู่ในระดับมากที่สุด อยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar =4.61)
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม พบว่า ครูผู้สอนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการสอน อยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.64)