บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ศึกษาสภาพการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ
2) สร้างรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ
3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ และ
4) ประเมินรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R & D)
ดำเนินการวิจัย 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษา รวม 30 คน ได้มาแบบเจาะจง และสัมภาษณ์เชิงลึกจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ต้นแบบ 3 แห่ง กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูแกนนำ และประธานคณะกรรมการสถานศึกษา รวม 9 คน
ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยการประชุมสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 คน
ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 22 คน ได้มาแบบเจาะจง
ระยะที่ 4 ประเมินรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 17 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีการวางแผนมากที่สุด รองลงมา คือ การชี้นำ การจัดองค์กร การควบคุม ตามลำดับ
2) รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ ระบบงานและระบบกลไกของรูปแบบ วิธีดำเนินการของรูปแบบมี 4 ด้าน (POLC Model ได้แก่ การวางแผน การจัดองค์กร การชี้นำ การควบคุม) แนวทางการประเมินผลของรูปแบบ และเงื่อนไขความสำเร็จของรูปแบบ
3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ หลังการทดลองโดยรวมมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นทุกด้าน โดยมีผลการประเมินอยู่ในระดับคุณภาพดีมาก
4) ผลการประเมินรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยรวมมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด
คำสำคัญ : รูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้, หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, ทักษะผู้เรียนใน ศตวรรษที่ 21