รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P Model
สาวิตรี สิทธิชัยกานต์
ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดสมรโกฏิ(อยู่พูนราษฎร์บำรุง)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1
ส่วนนำ
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคน สร้างสังคม และสร้างชาติ เป็นกลไกหลักในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุขในกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 เนื่องจากการศึกษามีบทบาทสำคัญในการสร้างความได้เปรียบของประเทศเพื่อการแข่งขันและยืนหยัดในเวทีโลกภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นพลวัต ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญและทุ่มเทกับการพัฒนาการศึกษาเพี่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภูมิภาคและของโลกควบคู่กับการธำรงรักษาอัตลักษณ์ของประเทศ (กระทรวงศึกษาธิการ , 2560) นานาอารยะประเทศต่างให้ความสนใจและตระหนักดีว่า รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาทางด้านการศึกษาให้กับพลเมืองทุกคน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ การบริการ การจัดการ การอุตสาหกรรม ถือว่า มีการแข่งขันกันสูงมาก มนุษย์เราจึงต้องเร่งพัฒนาตนเอง โดยต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีความสามารถแสวงหาความรู้ รวมทั้งเลือกใช้ความรู้ได้อย่างเหมาะสม ยุทธศาสตร์สำคัญที่หลายประเทศใช้เพี่อความได้เปรียบในการแข่งขัน คือ การปฏิรูปการศึกษาโดยเชื่อว่ามนุษย์เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ (วัชรา เล่าเรียนดี , 2556)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่าการศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มาตรา 258 (3) กำหนดไว้ว่า ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้ง มีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู และ (4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพี่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา , 2560) การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนที่รัฐต้องจัดให้เพี่อพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยให้มีความเจริญงอกงามทุกด้าน เพื่อเป็นต้นทุนทางปัญญาที่สำคัญในการพัฒนาทักษะคุณลักษณะและสมรรถนะในการประกอบสัมมาชีพและการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุขอันจะนำไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติที่ต้องพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศในเวทีโลกท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 (กระทรวงศึกษาธิการ , 2560)
การนิเทศภายในสถานศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในอาชีพ มีขวัญและกําลังใจในการพัฒนาตนเองและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในทุกๆด้าน โดยต้องถือหลักการมีส่วนร่วมในการทำงานเน้นความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานและใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเพื่อให้งานนั้นบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ การนิเทศภายในสถานศึกษาเป็นระบบของความร่วมมือกันของผู้บริหารสถานศึกษาและครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาเพื่อพัฒนางานวิชาการของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา โดยการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือครูหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้ปรับปรุงวิธีสอนการวัดผลประเมินผลให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ของการจัดการศึกษาทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้รับการนิเทศได้รับการพัฒนาวิชาชีพ มีความพึงพอใจ มีกำลังใจที่จะพัฒนาการเรียนการสอนและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงขึ้น จนส่งผลให้สถานศึกษาเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง (ธเนศ ขำเกิด , 2555) หลักการสำคัญของการนิเทศภายในสถานศึกษา คือ จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามขั้นตอนกระบวนการนิเทศมีการปฏิบัติการนิเทศอย่างมีขั้นตอน มีการวางแผน ติดตาม ช่วยเหลืองานอย่างต่อเนื่องจนเสร็จสิ้นกระบวนการ มีการทำงานเป็นทีม ให้กำลังใจ แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ที่ดียอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ชี้แนะกระตุ้นให้ผู้รับการนิเทศได้พัฒนาตนเอง ให้โอกาสได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่และใช้ศักยภาพของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แนวทางในการนำพาและร่วมมือกับครูเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ให้สูงขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยนำหลักการนิเทศแบบมีส่วนร่วม พาครูคิดและพาครูพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียนและช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น มีการปรับบทบาทของผู้นิเทศให้ฟังมาก พูดน้อย ใช้คำถาม สะท้อนการคิดบนพื้นฐานของข้อมูล ลดการบอกคำตอบ ไม่สั่งการใดๆ และยึดหลักผู้รับการนิเทศ คือ เพื่อนร่วมเรียนรู้ตามเทคนิคการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด โดยใช้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่การปฏิบัติงานหรือในห้องเรียน ซึ่งทั้ง ผู้นิเทศ และผู้รับการนิเทศจะวิเคราะห์สภาพปัญหาร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการนิเทศภายใน มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันผ่านกระบวนการ (P A O - R) ตามแนวคิดของ Kemmis and McTaggart (1988 , อ้างถึงในสมุทร สมปอง, 2558) ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นการวางแผน เริ่มต้นด้วยการสำรวจปัญหาที่ต้องการให้มีการแก้ไข ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนด้วยกันสำรวจสภาพปัญหา วิเคราะห์สภาพปัญหาเพื่อเป็นแนวทางในการหาโครงสร้างของปัญหาอย่างมีระบบ ทบทวนแง่มุมของปัญหา วิเคราะห์ปัญหาการจัดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งซึ่งจะทำให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจน 2) ขั้นการปฏิบัติการ เป็นการกำหนดแนวคิดที่กำหนดเป็นกิจกรรมในขั้นวางแผนมาดำเนินการ เมื่อลงมือปฏิบัติต้องใช้การวิเคราะห์วิจารณ์ ประกอบไปด้วย โดยรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งจากการปฏิบัติจะเป็นข้อมูลย้อนกลับว่าเมื่อดำเนินการตาม แผนที่วางไว้นั้นปฏิบัติได้ดีมากน้อยเพียงใด มีอุปสรรค อย่างไรบ้างในการปฏิบัติดังนั้น แผนงานที่กำหนดไว้อาจจะยืดหยุ่น โดยผู้วิจัยต้องใช้วิจารณญาณ และการตัดสินใจที่เหมาะสม และมุ่งปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามขั้นตอนที่วางไว้ 3) ขั้นการสังเกต เป็นขั้นที่ขณะวิจัยมีการดำเนินกิจกรรมตามขั้นตอนที่วางไว้ต้องมีการสังเกตควบคู่ไปด้วย พร้อมจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่คาดหวังและไม่คาดหวัง โดยสิ่งที่สังเกต ก็คือ กระบวนการปฏิบัติการ และผลของการปฏิบัติการ การสังเกตนี้จะรวมถึงการรวบรวมผลการปฏิบัติที่เห็นด้วยตา การได้ฟัง การได้ใช้ เครื่องมือเชาว์แบบทดสอบ เป็นต้น ซึ่งขณะที่การปฏิบัติการวิจัยกำลังดำเนินการไปควบคู่กับการสังเกตผลการปฏิบัติควรใช้เทคนิคต่างๆ ที่เหมาะสมมาช่วยในการรวบรวมข้อมูลด้วย 4) ขั้นการสะท้อนผล คือ การประเมินหรือตรวจสอบกระบวนการ ปัญหาหรืออุปสรรคต่อการปฏิบัติการ ซึ่งผู้วิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบกระบวนการ ปัญหา หรืออุปสรรคต่อการปฏิบัติการ และปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ โดยผ่านการอภิปรายปัญหา ซึ่งจะได้แนวทางของการพัฒนาขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมและเป็นพื้นฐานข้อมูลที่นำไปสู่การปรับปรุงและวางแผนการปฏิบัติต่อไป โดยวงจร 4 ขั้นตอน ดังกล่าว จะมีลักษณะการดำเนินการเป็นขั้นบันไดเวียน (Spiral) การทำซ้ำตามวงจรจนกว่า จะได้ผลและแสดงให้เห็นแนวทางหรือรูปแบบปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่ศึกษานั้น
หลักการของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ร่วมกับการนิเทศภายในสถานศึกษาเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีหลักการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือ มีภาวะผู้นำ เป็นกัลยาณมิตร การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไปในทางที่ดี และมีการเรียนรู้พัฒนาวิชาชีพ จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำเป็นต้องมีทีมหรือคณะทำงานที่มีแนวคิด ปัญหาและความสามารถในบริบทของผู้เรียนในระดับเดียวกัน เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละรายบุคคล (เกศทิพย์ ศุภวานิช, 2560) โดยยึดหลักที่มีจุดประสงค์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีการร่วมมือร่วมพลัง มีภาวะผู้นำ กัลยาณมิตร การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ มีการเรียนรู้ร่วมกันและ จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นชุมชนชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพร่วมกัน (Hord and Bolam , 2008 อ้างถึงใน บังอร เสรีรัตน์, ชาริณี ตรีวรัญญู และเรวณี ชัยเชาวรัตน์ , 2558) ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา จะช่วยลดความโดดเดี่ยวในการจัดการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพิ่มความผูกพันและกระตุ้นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ให้บรรลุตามเป้าหมายของสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะเข้าใจวิธีการสอน รูปแบบเทคนิคการจัดการเรียนรู้ให้แตกฉาน แล้วนำแนวทางที่ได้จากคำแนะนำในชุมชนแห่งหารเรียนรู้ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้ของตนเอง ส่วนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมโดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นผู้ดำเนินการจัดจะเข้าร่วมอย่างเต็มใจ ร่วมสร้างบรรยากาศเหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้ อีกทั้งสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนและลดอัตราการตกซ้ำชั้นของผู้เรียน ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้อีกด้วย กล่าวโดยสรุป คือ PLC มุ่งเน้นให้องค์กรมีการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มพัฒนาจากแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ และปรับประยุกต์ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและการเรียนรู้ร่วมกันในทางวิชาชีพที่มีหน้างานสำคัญ คือ ความรับผิดชอบการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกันเป็นกำลังสำคัญที่มุ่งพัฒนาการของผู้เรียน ดังนั้น การพัฒนาโรงเรียนโดยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ จึงเป็นการดำเนินการใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ใหม่ที่ส่งผลต่อความเชื่อ ค่านิยมและเจตคติภายในโรงเรียน ให้ดีขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร
เนื้อหาสาระ
รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P Model เป็นกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่นำหลักการ แนวคิด ทฤษฎี ของนักการศึกษามาพัฒนาในเกิดเป็นกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษาที่เป็นระบบเพื่อให้โรงเรียนและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำรูปแบบไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย แนวคิดการนิเทศแบบมีส่วน กระบวนการ (PAOR) และเทคนิคการจัดการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)
1. การนิเทศแบบมีส่วนร่วม เป็นการนิเทศโดยใช้กระบวนการแบบ ร่วมมือ ร่วมพัฒนาและร่วมกันปฏิบัติงานจนประสบความสำเร็จ ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ เพื่อพัฒนาให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ รุ่งรัชชาพร เวหะชาติ (2557) ได้กล่าวถึงการนิเทศแบบมีส่วนร่วมว่าเป็นการนิเทศที่ให้ความสำคัญต่อการร่วมแก้ปัญหา ร่วมหาแนวทางในการดำเนินการปรับปรุงการเรียนการสอน ตามวิถีประชาธิปไตยด้วยความเหมาะสมตามสถานการณ์ และยึดหลักการพึ่งพากันระหว่าง ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ โดยอัญชลี ธรรมะวิธีกุล (2553) ได้เสนอแนวทางการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ไว้ดังนี้ องค์ประกอบของการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย ผู้นิเทศ ผู้รับการนิเทศ เนื้อหาสาระที่นิเทศ และรูปแบบของการนิเทศ การนิเทศแบบมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการนิเทศแบบร่วมมือร่วมพัฒนา การร่วมหาแนวทางในการดำเนินการปรับปรุงการเรียนการสอนโดยมีการจัดตั้งคณะทำงานตามนโยบาย แผนงานและโครงการในรูปแบบแผนปฏิบัติการประจำปี จนถึงการประเมินผลการนิเทศ ความพึงพอใจของผู้เรียน/ผู้รับบริการและคุณภาพของการจัดการศึกษา ซึ่งสามารถนำแนวคิดการมีส่วนร่วมมาใช้ในดำเนินการนิเทศภายในที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้โดยใช้ 3P MODEL ในส่วนของ P ตัวที่ 1 Participation การมีส่วนร่วม คือ การทำงานร่วมกัน บุคลากรในโรงเรียนรับรู้เข้าใจ มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาและค้นหาแนวทางแก้ไข ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอำนวยความสะดวก ผู้ให้การช่วยเหลือ ชี้แนะ เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ของครู มีการวางนโยบายและเป้าหมายของการนิเทศภายในที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งโรงเรียน
2. กระบวนการ PAOR เป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และตีความหมายอย่างมีระบบและยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เฉพาะ รวมถึงการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นหรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ วัฒนา ก้อนเชื้อรัตน์ (2556) กล่าวถึงกระบวนการ PAOR โดยมีขั้นตอนการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่อง 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) P การวางแผน กลยุทธ์ 2) A การปฏิบัติ 3) O การสังเกต และ4) R การสะท้อนผลเชิงวิพากษ์จากตนเองและเพื่อนร่วมงานผลที่ได้นำไปปรับแผนเข้าสู่วงจรใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แก้ไขปัญหาได้จริงหรือพัฒนาสภาพการณ์ของสิ่งที่ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบจรรยาบรรณที่ยอมรับกัน สุวิมล ว่องวาณิช (2560) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของกระบวนการ PAOR ส่งผลให้ครูผู้สอนได้พัฒนาตนเองเกิดกระบวนการทำงานที่เป็นระบบมีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนาการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ทำให้ปัจจุบันในหลายองค์กรมีการนำกระบวนการ PAOR มาใช้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถนำกระบวนการ PAOR มาใช้ในดำเนินการนิเทศภายในที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P MODEL ในส่วนของ P ตัวที่ 2 PAOR คือ การวางแผนการปฏิบัติงาน (P) โดยร่วมกันกำหนดประเด็นในการนิเทศภายในที่สอดคล้องกับเป้าหมายการนิเทศภายในที่วางไว้ วางแผนการดำเนินการและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการนิเทศภายใน การปฏิบัติการ (A) ดำเนินการสร้างคู่มือและแบบนิเทศภายใน ชี้แจงทำความเข้าในเกี่ยวกับการใช้คู่มือและแบบนิเทศภายในให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การสังเกตการณ์ (O) ดำเนินการนิเทศภายในโดยการสังเกตการจัดการเรียนรู้ บันทึกสิ่งที่พบให้ครอบคลุมตามแบบนิเทศภายใน บันทึกข้อสังเกตสำคัญที่มีผลต่อการจัดการเรียนรู้สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ของนักเรียนที่สะท้อนจากการจัดการเรียนรู้ของครูโดยละเอียด และการสะท้อนผล (R) โดยการนำผลการสังเกตมาสะท้อนให้ผู้รับการนิเทศได้รับทราบเพื่อหาจุดเด่นและจุดควรพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู
3. Professional Learning Community (PLC) เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคล เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถตามศักยภาพของบุคคลนั้น โดยให้กลุ่มบุคคลเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และสร้างความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจให้กับบุคคลนั้น และต่อมาโรงเรียนในหลายๆ ประเทศได้นำ Professional Learning Community (PLC) เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาครูให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายสู่การจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีประสิทธิผลนั่นเอง นริส ภูอาราม (2560) ได้ให้แนวคิดว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการสอนของครู การทำงานร่วมกันในชุมชนการเรียนรู้แห่งวิชาชีพส่งผลต่อการพัฒนาวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ร่วมทีมจำเป็นต้องร่วมกันกำหนดบทบาทใหม่ที่เหมาะสมของครู ทุกคนจำเป็นต้องสร้างความตระหนัก และให้มุมมองใหม่ต่อสาธารณชนและวงการวิชาชีพครู เน้นย้ำและเห็นคุณค่าของความจำเป็นต้องพัฒนาครูให้มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น เสถียร อ่วมพรหม (2560) กล่าวว่า เหตุผลที่องค์กรจำเป็นที่ต้องมีการเรียนรู้ เนื่องมาจากระดับคุณภาพของการปฏิบัติงานและต้องมีการปรับปรุงงานอยู่เสมอ ต้องอาศัย การเรียนรู้เป็นฐานที่สำคัญยิ่งซึ่งสามารถนำแนวคิดของชุมชนการเรียนรู้แห่งวิชาชีพ มาใช้ในดำเนินการนิเทศภายในสถานศึกษาที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้โดยใช้ 3P MODEL ในส่วนของ P ตัวที่ 3 PLC คือ ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ผู้บริหารและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเสนอแนวทาง ร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขหรือพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูที่ได้รับการสะท้อนจากนิเทศภายใน มีการช่วยเหลือประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้ครูปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและเกิดการพัฒนาสูงสุด
จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น สามารถสร้างรูปแบบการนิเทศภายสถานศึกษาที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P Model ดังนี้
ภาพที่ 1 รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P Model
รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P Model เป็นกระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษาที่เป็นระบบ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ
1. หลักการและเหตุผล
เป็นการนิเทศที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาการจัดการเรียนรู้และทำงานอย่างเป็นระบบ โดยการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศ
2. วัตถุประสงค์การนิเทศ
เพื่อให้ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู โดยทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และ ร่วมรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
3. การนิเทศโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
3.1 การนิเทศโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม (Participation) เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มุ่งเน้นให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ มีการวางนโยบายและเป้าหมายของการนิเทศภายในที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งโรงเรียน มีองค์ประกอบ ดังนี้
3.1.1 บุคลากรทุกคนในโรงเรียนรับรู้เข้าใจ ต้องการและยินดีเข้าร่วมกิจกรรม
3.1.2 ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากร ในโรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียนในการวิเคราะห์ปัญหาและค้นหาแนวทางแก้ไข
3.1.3 ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอำนวยความสะดวก ผู้ให้การช่วยเหลือ ชี้แนะ และให้ข้อมูลป้อนกลับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และความมั่นใจในการทำงานร่วมกัน
3.1.4 มุ่งเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิด การนำแผนการจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในห้องเรียน รวมทั้ง เจตคติที่ดีต่อการสอนเพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียน
3.1.5 การพัฒนาครูจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเว้นระยะเวลาการทำกิจกรรมต่างๆ ของรูปแบบพอสมควร เพื่อให้ครูได้มีโอกาสทบทวนความรู้ ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเอง
3.2 ดำเนินการนิเทศภายในด้วยกระบวนการ PAOR ดังนี้
3.2.1 การวางแผนการปฏิบัติงาน (P) โดยร่วมกันกำหนดประเด็นในการนิเทศภายในที่สอดคล้องกับเป้าหมายการนิเทศภายในที่วางไว้ วางแผนการดำเนินการและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการนิเทศภายใน
3.2.2 การปฏิบัติการ (A) ดำเนินการสร้างคู่มือและแบบนิเทศภายใน ชี้แจงทำความเข้าในเกี่ยวกับการใช้คู่มือและแบบนิเทศภายในให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
3.2.3 การสังเกตการณ์ (O) ดำเนินการนิเทศภายในโดยการสังเกตการจัดการเรียนรู้ บันทึกสิ่งที่พบให้ครอบคลุมตามแบบนิเทศภายใน บันทึกข้อสังเกตสำคัญที่มีผลต่อการจัดการเรียนรู้สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ของนักเรียนที่สะท้อนจากการจัดการเรียนรู้ของครูโดยละเอียด
3.2.4 การสะท้อนผล (R) โดยการนำผลการสังเกตมาสะท้อนให้ผู้รับการนิเทศได้รับทราบเพื่อหาจุดเด่นและจุดควรพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู
3.3 ใช้เทคนิคการจัดการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ผู้บริหารและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเสนอแนวทาง ร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขหรือพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูที่ได้รับการสะท้อนจากนิเทศภายใน มีการช่วยเหลือประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้ครูปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและเกิดการพัฒนาสูงสุด มีองค์ประกอบ ดังนี้
3.3.1 วิสัยทัศน์ร่วมกัน คือร่วมวางแผนทิศทางการดำเนินงาน มีการตั้งเป้าหมายต่อการปฏิบัติงาน และร่วมตรวจสอบภารกิจในการดำเนินงาน
3.3.2 ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมมือปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถตามแนวทางที่ตั้งไว้ร่วมกัน และเข้าร่วมประเมินการปฏิบัติงานของเพื่อนครู
3.3.3 ภาวะผู้นำ แนะนำการปฏิบัติตนที่ดีให้กับเพื่อนครู โน้มน้าวให้เพื่อนครูเข้าร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ช่วยประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ เป็นที่ยอมรับของเพื่อนครูในการประสานงานให้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เต็มใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย สนับสนุนการปฏิบัติงานของเพื่อนครู ตามความต้องการของ แต่ละบุคคล และโน้มน้าวให้เพื่อนครูความสมัครใจ ต่อการดำเนินงาน
3.3.4 เป็นกัลยาณมิตร มีความสนิทสนมกับเพื่อนครูในโรงเรียน มีแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นชุมชนแห่งความสุข ร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ ใช้คำพูดในการให้คำปรึกษาเพื่อนครูอย่างจริงใจ สนับสนุนให้เพื่อนครูใช้ความสามารถของตนเอง อย่างเต็มความสามารถ ร่วมแนะนาข้อบกพร่องของเพื่อนครูเพื่อปรับปรุงคุณภาพในการปฏิบัติงาน ร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีในเข้าร่วม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ร่วมสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเพื่อนครู และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ประโยชน์ส่วนตน
3.3.5 การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร มีการทำงานเป็นทีมตามบริบทของสถานศึกษา ที่ได้กำหนดร่วมกัน ปรับเปลี่ยนสถานศึกษาเป็นสังคมที่มีความช่วยเหลือ เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนครูในการปฏิบัติงานชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ปฏิบัติงานให้เป็นระบบเพื่อให้สถานศึกษาดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน ให้ทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในสถานศึกษา และได้รับความช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน ที่มีความยากจากเพื่อนครู
3.3.6 การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ โดยร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ตามความสามารถที่ตนถนัด ใช้ความสามารถของตนในการพัฒนาสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาตนเองอยู่เสมอให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) มีความอดทนต่อการแก้ปัญหา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานร่วมกัน
บทสรุป
รูปแบบการนิเทศภายสถานศึกษาที่ส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ 3P Model เป็นขั้นตอนการนิเทศภายในสถานศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วม การดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ เพื่อให้เกิดความรัก ความนับถือและความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันในการพัฒนางานการสอน มีการประสานความร่วมมือกันในการจัดระเบียบวิธีการทำงานที่เป็นระบบโดยการร่วมมือกันทุกฝ่าย ใช้กระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันให้การปฏิบัติงานดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อย เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ออกแบบวางแผนใช้กลยุทธ์ในการปฏิบัติการร่วมกันเพื่อการนิเทศที่มีประสิทธิภาพทำให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้ครูได้รับความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้และการนิเทศการสอนที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนเรียนรู้และการนิเทศการสอน ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงจากสื่อหรือแหล่งเรียนรู้นักเรียนได้ฝึกคิดเพื่อแก้ปัญหาได้จริง อีกทั้งการที่ครูผู้นิเทศและครูผู้รับการนิเทศได้ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน จะทำให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการนิเทศร่วมกัน มีการนำผลการนิเทศมาสะท้อนผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้การจัดการเรียนรู้สามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
รายการอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). การวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
เกศทิพย์ ศุภาวานิช (ผู้บรรยาย). (8 เมษายน 2560). ทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต Professional Learning Community: PLC ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ. ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาผู้นำกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) สำหรับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 40. โรงแรมโฆษิตฮิลล์ : เพชรบูรณ์.
ธเนศ ขำเกิด. (2555). คุยเฟื่องเรื่องนิเทศ 1 : นิเทศการศึกษานั้นสำคัญไฉน?.
วิทยาจารย์. 112(1), 25 27 พฤศจิกายน.
บังอร เสรีรัตน์ ชาริณี ตรีวรัญญู และเรวณี ชัยเชาวรัตน์. (2558). 9 วิธีสร้างครูสู่ศิษย์ : เอกสารประมวลแนวคิดและแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับคณะทำงาน. กรุงเทพฯ : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน.
รุ่งชัชดาพร เวหะชาติ. (2557). การบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน. (พิมพ์ครั้งที่ 5).
บริษัท นำศิลป์ สงขลา : โฆษณาจำกัด.
วัชรา เล่าเรียนดี. (2556). ศาสตร์การนิเทศการสอนและการโค้ชการพัฒนาวิชาชีพ: ทฤษฎี
กลยุทธ์สู่การปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 12). นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สมุทร สมปอง.(2558). การพัฒนารูปแบบการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูในโรงเรียน
ประถมศึกษา : การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม.
กรุงเทพฯ : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2560). แผนปฏิบัติราชการ 4 ป ของสำนักงานเลขาธิการสภา
การศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.