ชื่อเรื่อง กลยุทธ์การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโรงเรียนชุมพรนาเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3
ผู้ศึกษา นางนุชรินทร์ เสมอโภค
สถานศึกษา โรงเรียนชุมพรนาเจริญ
ปีที่พิมพ์ 2566
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง กลยุทธ์การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโรงเรียน
ชุมพรนาเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อสร้างกลยุทธ์การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนชุมพรนาเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 2) เพื่อทดลองใช้กลยุทธ์การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนชุมพรนาเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 และ3) เพื่อประเมินกลยุทธ์การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนชุมพรนาเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 กลุ่มผู้ร่วมศึกษาคือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนชุมพรนาเจริญ จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 ฉบับ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง จำนวน 3 ฉบับ และแบบประเมิน จำนวน 2 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) แล้วนำเสนอโดยการบรรยาย
ผลการศึกษา ปรากฏดังนี้
1. สภาพปัจจุบัน ปัญหาก่อนดำเนินการพัฒนา พบว่า ครูส่วนใหญ่ยังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามรูปแบบที่ถนัดและเคยชิน ยึดสอนตามแบบตำราเรียนมากกว่าการยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นการบรรยายเป็นหลัก ครูใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่หลากหลาย ขาดการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่ส่งเสริมให้นักเรียน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์เอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีครูที่จัดการเรียนการสอนเน้นการปฏิบัติจริงผ่านการจัดทำโครงงานเพียงส่วนน้อย ทั้งนี้เพราะครูส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจและความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญน้อย โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งสภาพปัจจุบันปัญหาดังกล่าวสอดคล้องกับผลการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่ยังต่ำ ผู้เรียนยังมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาน้อย ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและผลการทดสอบระดับชาติ RT, NT และ O-net ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามลำดับ ยังมีคะแนนที่ต่ำและไม่เป็นที่น่าภาคภูมิใจ และหากใช้วิธีการเดิมเพียงวิธีการเดียวอาจจะทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและขาดความสนใจในการเรียนและส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำได้
ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบ 4 (พ.ศ. 2565-2569) ของโรงเรียนชุมพรนาเจริญ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 พบว่า มีผลการประเมินทั้ง 3 มาตรฐานอยู่ในระดับดีทุกด้าน ทั้งระดับปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการประเมินได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า ในการเขียน SAR ให้ได้ผลประเมินระดับสูงขึ้น สถานศึกษาควรระบุข้อมูลลงใน SAR เพิ่มเติมในประเด็นจุดเน้น ครูจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการระบุเป้าหมายคุณภาพของผู้เรียน มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา มีการระบุวิธีพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ กำหนดวิธีการประเมินผล เครื่องมือในการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Assessment for Learning) เช่น แฟ้มสะสมผลงาน แบบประเมินการปฏิบัติ เป็นต้น มีการนิเทศ ติดตามประเมินการดำเนินงาน พัฒนาผลการดำเนินงานให้เป็นการปฏิบัติที่ดีสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมของสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการ PLC นำเสนอผลการดำเนินงานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมทั้งการนำเสนอนวัตกรรม (Innovation) หรือวิธีปฏิบัติอันเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ที่สถานศึกษาได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับและสามารถเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้และนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของสถานศึกษา เฟชบุ๊ก กลุ่มไลน์หรือเอกสารต่าง ๆ เป็นต้น (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). รายงานการประกันคุณภาพภายนอก : ผลการประเมิน SAR ภายใต้สถานการณ์ COVID 19 การศึกษาปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2565 : 8)
2. การดำเนินการพัฒนา ในวงรอบที่ 1 โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ จัดกิจกรรม PLC ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน แล้วดำเนินการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร โดยการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน และการประเมินโครงงาน เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือครูในการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบโครงงานมากยิ่งขึ้น และสามารถนำความรู้ไปจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อยู่ในระดับดีมาก 7 คน และอยู่ในระดับดี 3 คน
การดำเนินการพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กิจกรรมการปรับปรุงพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน และกิจกรรมการปรับปรุงพัฒนาการเสนอผลงานโครงงาน ส่งผลให้ครูสามารถพัฒนาการเขียนแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาการทำโครงงานได้อย่างถูกต้องและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริงบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน
3. ผลการพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน พบว่า
1) ครูมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ได้อย่างถูกต้องและเกิดความมั่นใจในการนำไปใช้สอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ครูสามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานได้อย่างถูกต้อง สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้เหมาะสมตามระดับชั้น วัยและพัฒนาการของนักเรียน และสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น 3) ครูสามารถจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เรียนสามารถตั้งชื่อเรื่องที่จะทำโครงงาน ออกแบบโครงงาน ลงมือทำโครงงาน เขียนรายงาน นำเสนอโครงงานประเมินผลโครงงานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมเกิดประโยชน์ ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง
และ 4) ผลงานโครงงานของนักเรียนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลในระดับต่างๆ เช่น ระดับประเทศ ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับกลุ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษา และนอกจากนี้ยังส่งผลต่อรางวัลผู้บริหารสถานศึกษาและรางวัลสถานศึกษาอีกด้วย
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีต่อกลยุทธ์การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโรงเรียนชุมพรนาเจริญ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ผู้ที่มีความพึงพอใจมากที่สุด คือคณะกรรมการสถานศึกษา รองลงมา ได้แก่ ครูผู้สอน ตามลำดับ
ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานของครูโรงเรียนชุมพรนาเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 เป็นอย่างมาก ทำให้ครูได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเกิดทักษะ มีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชน และสามารถนำไปเผยแพร่ในกลุ่มเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันอย่างยั่งยืน