ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
ชื่อผู้ประเมิน : พิกุลทอง สนิทอินทร์
ปีการศึกษา : 2565
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อประเมินด้านบริบท (Context : C) ของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
2. เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input : I) ของโครงการฯ
3. เพื่อประเมินด้านกระบวนการ (Process : P) ของโครงการฯ
4. เพื่อประเมินด้านผลผลิต (Product : P) ของโครงการฯ
4.1 ความคิดเห็นของครู ผู้สอนที่มีต่อโครงการฯ
4.2 ความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อโครงการฯ
4.3 ความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อโครงการฯ
4.4 คุณภาพผู้เรียนด้านสุขภาพหลังดำเนินการโครงการฯ
4.5 จำนวนรางวัลที่ได้รับจากการดำเนินโครงการฯ
4.6 ผลจากการสัมภาษณ์โดยภาพรวมด้านผลผลิตของโครงการฯ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอน จำนวน 40 คน ผู้ปกครอง จำนวน 5 คน และนักเรียน จำนวน 100 คน รวมทั้งสิ้น 155 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูผู้สอน จำนวน 3 คน ผู้ปกครอง จำนวน 5 คน และนักเรียน จำนวน 10 คน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินแต่ละด้านสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินความเหมาะด้านบริบท จากแบบสอบถามโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือความต้องการของการทำโครงการ รองลงมาคือ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ พบว่า ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ ซึ่งทุกด้านผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
2. ผลการประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยนำเข้า จากแบบสอบถามโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ความเหมาะสมของอาคารสถานที่ รองลงมาคือ ความเหมาะสมของงบประมาณ และความเหมาะสมของบุคลากร ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ความเหมาะสมของวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือ ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ จากแบบสอบถามโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การวางแผน (Plan) และการติดตามและประเมินผล (Check) รองลงมาคือ การปรับปรุงและแก้ไข (Act) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ การดำเนินการ (Do) ซึ่งทุกรายการผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
4. ผลการศึกษาความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษาครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนที่มีต่อโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบคุณภาพผู้เรียนด้านสุขภาพหลังดำเนินการโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ปีการศึกษา 2564-2565 พบว่า ทุกข้อผู้เรียนมีสุขภาพหลังดำเนินการโครงการเพิ่มขึ้นทุกข้อ และผลจากการสัมภาษณ์โดยภาพรวมด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อนักเรียน เป็นโครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย สนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายกระทรวงสาธารณสุข นโยบายของจังหวัดสุโขทัย นโยบายกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นโยบายเทศบาลเมืองสวรรคโลก และแผนการปฏิบัติงานของสถานศึกษา โครงการฯ ยังได้รับการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาจากชุมชน นักเรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนทุกด้าน นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นผู้มีจิตอาสาในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
สรุปผลรวม โครงการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้รูปแบบ CIPP ของโรงเรียนเทศบาลสวรรคโลกประชาสรรค์ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ทั้งต่อนักเรียนและการจัดการศึกษาท้องถิ่น