นวัตกรรม วิธีปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice)
โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข
โรงเรียนบ้านโป่งแดงน้ำฉ่าสามัคคี
ชื่อผลงาน กิจกรรมส่งเสริมเชิงสร้างสรรค์ เป็นภูมิคุ้มกัน ต้านยาเสพติด
โดยใช้รูปแบบ PONGDA C4NG MODEL
ผู้เสนอผลงาน โรงเรียนบ้านโป่งแดงน้ำฉ่าสามัคคี 199 หมู่ที่ 6 ตำบลโป่งแดง อำเภอขามทะเลสอ
จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30280 โทรศัพท์ 085-3345598
ผู้รับผิดชอบ นางสาวนิตยาภรณ์ บุญชำนาญ
ผู้อำนวยการโรงเรียน นางสาวทานตะวัน กิ่งโคกกรวด
๑. ความสำคัญของผลงาน
1.1 ความเป็นมาและสภาพปัญหา
จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน การสื่อสารเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลกระทบต่อ ประชาชนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งปรากฏปัญหาให้เห็นมากมาย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้าน อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด อันนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวที่เกิดความทุกข์ ความวิตกกังวล ความเครียด มีการปรับตัวที่ไม่เหมาะสมหรืออื่นๆ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมตามความคาดหวังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในโรงเรียน ซึ่งมีครูเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนให้เติบโตงดงามและเป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคม การพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรม ดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวัง โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่โรงเรียนต้องดำเนินการจัดการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้เยาวชนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข นอกจากจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนได้รับกระบวนการเรียนรู้แล้ว การป้องกัน และการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงรอบโรงเรียนที่มีพฤติกรรมไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ติดเกม ติดมือถือ การเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อลามก การทดลองยาเสพติดบางชนิดจากการชักชวนของเพื่อน หรือรุ่นพี่ เป็นปัญหาสังคมที่ผู้ปกครอง ครูทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งมาจากปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากแหล่งอบายมุข
ยาเสพติดทุกชนิด จะมีผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจโดยเฉพาะด้านบุคลิกภาพและสุขภาพอนามัย ความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม ครอบครัวที่มีผู้ติดยามักได้รับความเดือดร้อนจากผู้ติดยาในทุกด้านนำไปสู่ความยุ่งยาก ขัดแย้ง แตกแยก และสิ้นเปลืองในการแก้ปัญหาผู้ติดยามักก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับแหล่งอบายมุข การลักเล็กขโมยน้อย การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การพนัน และอาชญากรรมต่าง ๆ สำหรับผู้ค้าและหรือผู้เสพซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อถูกจับกุมและดำเนินการทางกฎหมาย จะส่งผลกระทบให้สมาชิกภายในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก และเยาวชนที่อยู่ภายใต้การปกครองจะต้องออกจากโรงเรียนซึ่งเป็นการทำลายอนาคตของประเทศชาติ
มาตรการสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ บทบาทของสถาบันทางสังคมไทยในระดับรากหญ้า ซึ่งประกอบด้วย สถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน และสถาบันศาสนา เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหา ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงมิใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์การใดองค์กรหนึ่ง แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด
นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนก่อนวัยเสี่ยง และในวัยเสี่ยง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เรียนรู้ถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด รู้จักวิธีปฏิเสธ หลีกเลี่ยงยาเสพติด และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่น มั่วสุมกับยาเสพติดและอบายมุข ตลอดจนดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงได้กำหนดนโยบายให้ผู้บริหารองค์กรหลัก หน่วยงาน และสถานศึกษา ดำเนินการโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข ดังนี้
๑. ผู้บริหารทุกระดับนำนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่การปฏิบัติ จัดทำแผนปฏิบัติ การครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งใน และนอกสถานศึกษา
๒. ผู้บริหารทุกระดับ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ต้องให้ความสำคัญและมีจิตสำนึกร่วมกันที่จะปกป้องคุ้มครองดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ความร่วมมือ และร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกรรมทั้งในหลักสูตรและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๓. ผู้บริหารสถานศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนจัดกิจกรรมป้องกัน และเฝ้าระวังยาเสพติดในสถานศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เช่น กิจกรรม TO BE NUMBER ONE กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่าง ๆ ค่ายคุณธรรม กิจกรรมลูกเสือและเนตรนารี ป้องกันยาเสพติด กิจกรรมกีฬาป้องกันยาเสพติด ส่งเสริมการรวมกลุ่มของนักเรียน ทั้งในส่วนของชมรม และสภานักเรียน
๔. ผู้บริหารสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก ทักษะชีวิต ภูมิคุ้มกันต่อต้าน ยาเสพติด และอบายมุข จัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาทุกคนให้ทั่วถึงโดยสร้างเครือข่ายแกนนำทุกระดับในสถานศึกษา
๕. ผู้บริหารสถานศึกษาจัดระบบการดำเนินงานยุทธศาสตร์ ๕ มาตรการ ตามโครงการสถานศึกษา สีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข คือ มาตรการป้องกัน มาตรการค้นหา มาตรการรักษา มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการบริหารจัดการ ภายใต้กลยุทธ์ ๔ ต้อง ๒ ไม่ ที่กำหนดให้สถานศึกษาต้องมียุทธศาสตร์ ต้องมีแผนงานต้องมีระบบข้อมูล ต้องมีเครือข่าย (๔ ต้อง) ไม่ปกปิดข้อมูล และไม่ผลักปัญหา ไม่ไล่ออก (๒ ไม่)
๖. ผู้บริหารทุกระดับ อำนวยการ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน และจัดมาตรการเสริมแรง ให้แก่ผู้รับผิดชอบด้านยาเสพติดดีเด่น ด้วยการยกย่องชมเชย มอบโล่ เกียรติบัตร เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ มาตรการลงโทษบุคลากรที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ออกจากราชการ และเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ประกาศเมื่อ วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ มีสาระสำคัญ เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรหลัก หน่วยงาน และสถานศึกษา ดำเนินการโดย
๑. ผู้บริหารสถานศึกษานำนโยบายการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการสถานศึกษา สีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ไปสู่การปฏิบัติ ให้มีแผนปฏิบัติการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และการมีส่วนร่วมของคณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ และกลุ่มเป้าหมาย นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและนอกสถานศึกษา
๒. ผู้บริหารหน่วยงานและผู้บริหารสถานศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานการป้องกันและแก้ไข ปัญหายาเสพติด โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข เพื่อสร้างและพัฒนาระบบการดำเนินงานที่เข้มแข็งต่อเนื่องและยั่งยืน
๓. ผู้บริหารหน่วยงานและผู้บริหารสถานศึกษา อำนวยการ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข และจัดทำมาตรการเสริมแรงให้แก่ผู้รับผิดชอบด้วยการยกย่อง ชมเชย มอบโล่เกียรติยศ เกียรติบัตร และการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ
๔. ผู้บริหารหน่วยงานและผู้บริหารสถานศึกษา อำนวยการ กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข และใช้มาตรการลงโทษ บุคลากรที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ออกจากราชการ และเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ
๕. ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน และผู้บริหารหน่วยงานและ ผู้บริหารสถานศึกษา จัดตั้งคณะกรรมการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข
๖. ผู้บริหารหน่วยงานและผู้บริหารสถานศึกษา สรุปรายงานต้นสังกัดเพื่อสรุปผลรายงานศูนย์อำนวยการ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ โดยการดำเนินงานโครงการสถานศึกษา สีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข มีเป้าหมายเพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งปลอดจากยาเสพติด และอบายมุข การพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้าน ร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรม ดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวัง โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่โรงเรียนต้องดำเนินการจัดการศึกษาตามนโยบายของ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้เยาวชนเป็นคนเก่ง คนดี ดำรงตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากจัดกิจกรรมที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้นักเรียนได้รับกระบวนการเรียนรู้แล้ว การป้องกัน และการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงรอบโรงเรียนที่มีพฤติกรรมไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร้านเกม การพนัน หนีเรียน ทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม เป็นปัญหาสังคมที่ผู้ปกครอง ครูทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าไปช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งมาจากปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบจากแหล่งอบายมุข
โรงเรียนบ้านโป่งแดงน้ำฉ่าสามัคคี ตั้งอยู่ในชุมชนที่เป็นกึ่งสังคมเมือง มีการคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง เกษตรกรรม ทั้งยังเป็นสังคมที่นักเรียนไม่ได้อยู่กับบิดามารดา ครอบครัวแตกแยกหย่าร้าง นักเรียนส่วนใหญ่อยู่กับญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย ไม่มีเวลาดูแลนักเรียน และเปลี่ยนสถานที่ทำงานตามสภาพของเศรษฐกิจในสังคม ส่งผลให้นักเรียนขาดคนดูแลเอาใจใส่ และการอบรมบ่มนิสัยจากผู้ปกครอง ทำให้มีปัญหาทางด้านการเรียน ปัญหาครอบครัว ขาดความรักความอบอุ่น ขาดการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ขาดระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อส่วนรวม อยู่ในสังคมที่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ทำให้ขาดเกราะป้องกัน หรือไม่มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง รวมไปถึงมีอัตราเสี่ยงในเรื่องยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ
๒. แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา
จากสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบันที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ ส่งผลให้นักเรียนมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบายมุข และจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน การสื่อสารเทคโนโลยีต่าง ๆ ส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบกับนักเรียน ประชาชน อย่างมากมาย ทั้งทางการด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดและอบายมุขในสถานศึกษาอันจะนำปัญหามาสู่ครอบครัว สถานศึกษา สังคมและชุมชน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในสถานศึกษา ซึ่งมีครูอาจารย์เป็นหลักสำคัญในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน ทั้งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการด้านการป้องกันยาเสพติด ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพในสถานศึกษา โรงเรียนบ้านโป่งแดงน้ำฉ่าสามัคคี จึงได้จัดให้มีโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดสิ่ง เสพติดและอบายมุข
จากการวิเคราะห์การจัดกิจกรรมที่ผ่านมาของโรงเรียน ได้พิจารณาเห็นว่าการให้ความสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันนักเรียนให้ห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุข โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมสนับสนุนและสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในโรงเรียน สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยของยาเสพติด และอบายมุข และสามารถดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ทั้งยังสามารถพัฒนาผู้เรียนด้านการเรียนรู้ ความสามารถพิเศษที่นักเรียนสนใจ การใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัย และเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า จึงได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการกิจกรรมเกี่ยวกับโรงเรียนสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โดยคิดรูปแบบวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันนักเรียนให้ห่างไกลยาเสพติดด้วยนวัตกรรม กิจกรรมส่งเสริมเชิงสร้างสรรค์ เป็นภูมิคุ้มกัน ต้านยาเสพติด โดยใช้รูปแบบ PONGDAC4NG MODEL เพื่อปลูกฝัง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับนักเรียนด้วยการเรียนรู้จากการลงมือกระทำจากการปฏิบัติจริงของนักเรียน โดยจัดกิจกรรมอย่างหลากหลายทุกมิติ เพื่อนักเรียนมีคุณธรรมหรือคุณลักษณะที่ดี ไม่นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ไม่สร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
กิจกรรมส่งเสริมเชิงสร้างสรรค์ เป็นภูมิคุ้มกัน ต้านยาเสพติด โดยใช้รูปแบบ PONGDAC4NG MODEL จึงเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนได้ใช้เวลาที่นอกจากการเรียนให้เกิดประโยชน์ มีกิจกรรมแยกตามความถนัด และความสนใจของนักเรียน โดยไม่ใช้เวลาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด บุหรี่ แอลกอฮอล์ และอบายมุขต่างๆ ซึ่งกิจกรรมในการต้านภัยยาเสพติดสามารถแบ่งได้หลายกิจกรรม ภายใต้กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ใน กิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด และความสนใจ โดยเน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติด้วยตนเอง
A : Activity กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซีโฟร์ (C4) คือ
C1 : Challenging = การท้าทาย เช่น กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมการต่อคำศัพท์ภาษาไทย
(คำคม) กิจกรรมครอสเวิร์ดเกมแม็ท (A-Math)
C2 : Competition = การแข่งขัน เช่น ศิลปะหัตกรรมนักเรียนการประกวดเล่านิทาน กิจกรรมจักสานไม้ไผ่ กิจกรรมตอบปัญหา กิจกรรมการแข่งขันวรรณกรรมพิจารณ์ การแข่งขัน Science Show
C3 : Creativity = สร้างคิดสร้างสรรค์ เช่นกิจกรรมนันทนาการ ศิลปะ ดนตรี
นาฎศิลป์ กีฬา
C4 : Companionship = สร้างมิตรภาพ เช่น กิจกรรมเครือข่ายฮีโร่น้อยร่วมพลัง สร้างสรรค์แนวคิดพิชิตยาเสพติด กิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น Soft Power ชุมชนตำบลโป่งแดง กิจกรรมกีฬาต้านยาเสพติด
ซึ่งสอดแทรกอยู่ในชั่วโมงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และชุมนุม จากการที่นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมตามความถนัด และความสนใจเป็นประจำ นักเรียนสามารถนำความชำนาญและทักษะที่ได้มาใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โรงเรียนบ้านโป่งแดงน้ำฉ่าสามัคคีได้ ส่งเสริมทักษะ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซีโฟร์ (C4) ซึ่งได้รับรางวัล เป็นที่ยอมรับของชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่ง