ผู้ศึกษา : หิรัณยกุล สุวรรณมณีแก้ว
ปีการศึกษา :2566
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับ ความต้องการความจำเป็น ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานและความเป็นไปได้ของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร ความเพียงพอของงบประมาณ ความเหมาะสมของวัสดุอุปกรณ์ ความเหมาะสมของการบริหารโครงการ 3) ประเมินกระบวนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมของขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับระดับคุณภาพการนิเทศภายในสถานศึกษา ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูผู้สอน ความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน ความพึงพอใจ ของครูผู้สอนที่มีต่อการดำเนินโครงการนิเทศภายในสถานศึกษา และข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ตามสภาพจริง
ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอน จำนวน 48 คน คณะกรรมการนิเทศภายในสถานศึกษา จำนวน 13 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 716 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 716 คน และศึกษาจาก กลุ่มตัวอย่าง ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอน เฉพาะครูชาวไทย จำนวน 43 คน คณะกรรมการนิเทศภายในสถานศึกษา จำนวน 13 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 429 คน ผู้ปกครองนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 429 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมีจำนวน 9 ฉบับ มี 2 ลักษณะ ซึ่งลักษณะที่ 1 เป็นแบบสอบถามประเมินโครงการ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามด้านบริบท ฉบับที่ 2 แบบสอบถามด้านปัจจัยนำเข้า ฉบับที่ 3 แบบสอบถามด้านกระบวนการ ฉบับที่ 4 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับระดับคุณภาพการนิเทศภายในสถานศึกษา ฉบับที่ 5 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูผู้สอน ฉบับที่ 6 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน ฉบับที่ 7 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อ การจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน ฉบับที่ 8 แบบสอบถามด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจ ของครูผู้สอนที่มีต่อการดำเนินโครงการนิเทศภายในสถานศึกษา และลักษณะที่ 2 ฉบับที่ 9 มีลักษณะเป็นแบบบันทึกข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา ตามสภาพจริง
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่ม ที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3. ด้านกระบวนการดำเนินโครงการนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) มีผลการประเมิน ดังนี้
4.1 ด้านผลผลิตเกี่ยวกับระดับคุณภาพการนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
4.2 ด้านผลผลิตเกี่ยวกับประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของครูผู้สอนโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการนิเทศภายในสถานศึกษา โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
4.3 ด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย ตามความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
4.4 ด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อการดำเนินโครงการนิเทศภายในสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า สังกัดเทศบาลนครเชียงราย โดยใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
4.5 ด้านผลผลิตเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา เปรียบเทียบภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 และภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ร้อยละของนักเรียนที่มีผลการเรียนระดับดี (3) ขึ้นไป โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยร้อยละเพิ่มขึ้น และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด