ชื่อเรื่อง การแก้ปัญหาการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยใช้การสอนรูปแบบ SSCS
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย นายธีระพันธุ์ นาคายน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
สอนวิชา คณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค23101 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จากรายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมหรรณพาราม ปีการศึกษา 2562 2564 รายวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า ผลการทดสอบของโรงเรียนค่อนข้างต่ำกว่าระดับ เขตพื้นที่การศึกษาและระดับประเทศ โดยเฉพาะเรื่องอสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว เป็นเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น
สาเหตุสำคัญเกิดจากนักเรียนขาดทักษะการแก้ปัญหา การวิเคราะห์โจทย์ทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งทักษะการแก้ปัญหานั้นนักเรียนต้องอาศัยความคิดรวบยอด ทักษะการคิดคำนวณ หลักการ กฎ และสูตรต่าง ๆ นำไปใช้แก้ปัญหา
จากเหตุผลดังกล่าวครูผู้สอนจึงจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานประเด็นท้าท้ายโดยแก้ปัญหาการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยใช้การสอนรูปแบบ SSCS ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อแก้ปัญหาการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยใช้การสอนรูปแบบ SSCS ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ได้แก้ปัญหาการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยใช้การสอนรูปแบบ SSCS ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพ
4. วิธีดำเนินการวิจัย
4.1 ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 / นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 1 , 2
และ 7
4.2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย/นวัตกรรม แผนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการวิเคราะห์โจทย์ปัญหาโดยใช้ การสอนรูปแบบ SSCS แบบทดสอบ และแบบบันทึกการปฏิบัติกิจกรรม
4.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล จากแบบทดสอบ และแบบบันทึกการปฏิบัติกิจกรรม
4.4 การวิเคราะห์ข้อมูล/สถิติที่ใช้ในการวิจัย ร้อยละ , คะแนนมาตรฐาน z (z-scores) และ คะแนนมาตรฐาน T (T-scores)
5. ผลการวิจัย (ผลลัพธ์การพัฒนา)
5.1 เชิงปริมาณ
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมจำนวนผู้เรียนทั้งหมด 120 คน ได้รับการแก้ปัญหาการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ด้วยเทคนิคการสอนรูปแบบ SSCS โดยที่ร้อยละ 71.67 ของจำนวนผู้เรียนทั้งหมด มีคะแนนทดสอบหลังเรียนผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม)
5.2 เชิงคุณภาพ
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมจำนวนผู้เรียนทั้งหมด 120 ได้รับการแก้ปัญหา การวิเคราะห์โจทย์ปัญหา เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ด้วยเทคนิคการสอนรูปแบบ SSCS สามารถแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่กำหนดให้ มีการทำงานเป็นทีม และเชื่อมโยงความรู้ที่ได้รับนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงจากการพัฒนาตนเอง
5. อภิปรายผล
จากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 120 คน มีนักเรียนจำนวน 86 คน คิดเป็นร้อยละ 71.67 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ที่ได้คะแนนตั้งแต่ 14 คะแนนขึ้นไปจากคะแนนเต็ม 20 คะแนน และมีนักเรียนจำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 28.33 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดได้คะแนนไม่ถึง 14 คะแนนจากคะแนนเต็ม 20 คะแนน
สำหรับนักเรียน 34 คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้รับการซ่อมเสริม และปรับปรุงผลการเรียนให้ดีขึ้น หลังจากการซ่อมเสริมนักเรียนสอบผ่านทั้งหมด 30 คน จาก 34 คน คิดเป็นร้อยละ 88.23 ของนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ซึ่งสูงกว่าข้อตกลง (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของผู้เรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์)
6. ข้อเสนอแนะ
ในขั้น Share ของการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS นักเรียนไม่ค่อยกล้าแสดงออกหรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ดังนั้นก่อนการจัดการเรียนรู้ครูผู้สอนควรสร้างความคุ้นเคยให้เกิดขึ้นกับนักเรียนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนมากขึ้น