ผลการใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
ชื่อผู้วิจัย นางสาวธนิตา คำเขียว ตำแหน่ง ครู กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
การศึกษานั้นถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญมากในสังคมยุคปัจจุบัน การศึกษาช่วยพัฒนาความสามารถด้านการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้อย่างดี จะเห็นได้ว่าประเทศใดมีระบบการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ประเทศนั้นจะมีคุณภาพและสามารถพัฒนาการเปลี่ยนแปลงให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งการศึกษาจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศดังนั้น รัฐบาลจึงจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทุกคนได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจศึกษา การใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนและเพื่อเป็นแนวทางให้กับครูได้ปรับปรุงวิธีการสอนให้ดีขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1 เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์เรื่อง ลำดับ
และอนุกรม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/ 80
2 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการ
สรุปผลการวิจัย (สรุปตามวัตถุประสงค์)
1 ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.04/81.17 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2 คะแนนทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชันมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการหลังเรียนสูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
อภิปรายผลการวิจัย
ผลการใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ สามารถอภิปรายผลได้ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการ เท่ากับ 83.04/81.17 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ ธันย์วรัชญ์ วงษ์ตั้นหิ้น และคณะ ได้ศึกษาการพัฒนาชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ปริพันธ์ สำหรับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า การพัฒนาชุดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ปริพันธ์ สำหรับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพ 75.89/75.20 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ 75/75 จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม ส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้บรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากฝึกหัด มีความสนุกสนานกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ ซึ่งส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ก่อนและหลังเรียนโดยใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสมุทรปราการ พบว่า คะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 สอดคล้องกับงานวิจัยของ อุบลวรรณ อยู่มั่นธรรมา ที่ได้ศึกษาการใช้ชุดการสอนวิชาคณิตศาสตร์แบบเรียนเป็นคู่เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ .01 ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อนักเรียนได้รับการสอนโดยชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ แล้ว นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ลำดับและอนุกรม หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และในการสอนที่ใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์นี้ยังเน้นให้ผู้เรียนค้นหาวิธีการหาคำตอบของปัญหาที่หลากหลายและยังทำให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาที่สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้ต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ข้อเสนอแนะทั่วไป
1. การเรียนการสอนโดยการใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ผู้สอนต้องคอยสังเกตว่าผู้เรียนคนใดมีปัญหาในการเรียนบ้างและคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
2. การเรียนการสอนโดยการใช้ชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ควรมีการเสริมแรง เช่น การกล่าวชม การให้รางวัลๆน้อยๆ สำหรับผู้ที่ทำแบบฝึกทักษะทำกิจกรรมได้คะแนนสูงเพื่อให้ผู้เรียนมีกำลังใจในการเรียน
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย
1. ควรมีการศึกษาผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่อง ลำดับและอนุกรม นี้กับกลุ่มตัวอย่างอื่นๆเพื่อหาผลสรุปที่แน่นอนยิ่งขึ้น
2. ควรมีการศึกษาผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในลักษณะเดียวกันนี้ในระดับชั้นและเนื้อหาอื่นๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น