ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถครูในการจัดการ
เรียนรู้ตามแนวทางชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของโรงเรียนเทศบาล ๒ หนองบัว
ผู้วิจัย : วรวิทย์ ตั้นเหลียง
ปีที่วิจัย : 2565
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถครูในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของโรงเรียนเทศบาล ๒ หนองบัว เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ 2) พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 11 คน ครูผู้สอน 62 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความต้องการจำเป็น แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกการสนทนาและถอดบทเรียน แบบบันทึกผลการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบบันทึกผลการนิเทศหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ แบบบันทึกผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ แบบประเมินความสามารถครู และแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศในด้านความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา ครูและผู้เรียน และความต้องการจำเป็นของเนื้อหา โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (Mean = 4.30 , S.D. = 0.60) ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาของการจัดการเรียนรู้ของครู แนวทางการแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ของครู และแนวทางการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่า การเรียนรู้ตามแนวทางการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพเป็นงานเฉพาะ มีครูที่ทำหน้าที่ในกลุ่มงานวิชาการเป็นหลัก มีการจัดประชุมปรึกษา และแบ่งภาระงานตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่พบปัญหาด้านการขาดความรู้และทักษะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ครูผู้สอนบางคนยังไม่เข้าใจวิธีการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ผู้บริหารสถานศึกษาให้ความสำคัญกับงานด้านนี้น้อยเกินไป แนวทางการแก้ปัญหาควรพัฒนาครูให้สามารถจัดอบรมได้ตลอดจากหน่วยงานต้นสังกัด ผู้บริหารสถานศึกษามีแนวโน้มที่จะบริหารจัดการการเรียนรู้ตามแนวทางการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพโดยเตรียมการด้านบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัย ร่วมพัฒนารูปแบบกับครู วางแผน พัฒนา และออกแบบการเรียนรู้ พัฒนาแผนงานตามนโยบายของสถานศึกษาสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการทำงาน มีบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร มีการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพที่มีระบบชัดเจน
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถครูในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ 4) ขั้นตอนการบริหารจัดการการนิเทศ (ดับเบิ้ลพีแอลซี โมเดล; 2PLCEE Model) มี 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นที่ 1 รับรู้ปัญหาและตั้งค่าเป้าหมายร่วมกัน (P) ขั้นที่ 2 วางแผนอย่างมืออาชีพ (P) ขั้นที่ 3 จัดการเรียนรู้เชิงรุกคัดสรร (L) ขั้นที่ 4 วิพากษ์เพื่อเรียนรู้ (C) ขั้นที่ 5 สร้างกำลังใจและสะท้อนผล (E) ขั้นที่ 6 หนุนเสริมและสร้างทีมพัฒนา (E) และ 5) ปัจจัยสนับสนุนขั้นตอนการบริหารจัดการการนิเทศ มี 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 ระบบการสอนแนะ ปัจจัยที่ 2 ระบบพี่เลี้ยง และปัจจัยที่ 3 ระบบประเมินผล
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถครูด้านการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ในกลุ่มนำร่อง (Pilot Group) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (Mean = 4.35, S.D. = 0.64) และกลุ่มทดลองจริง โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (Mean = 4.45, S.D. = 0.63)
4. ผลการประเมินความสามารถครูในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (Mean = 4.29, S.D. = 0.62) และผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารจัดการการนิเทศ ของครูผู้สอนในกลุ่มนำร่อง (Pilot Group) โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ( Mean = 4.30, S.D. = 0.59) และครูผู้สอนในกลุ่มทดลองจริง โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (Mean = 4.45, S.D. = 0.68)