ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ตามรูปแบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการ
เรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง เรื่อง การป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการใช้ทักษะในการ
ป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้ศึกษาค้นคว้า นายจักรี เกษเดช
สถานศึกษา โรงเรียนวัดสโมสร ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความต้องการ ความถนัด และความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน ผู้ศึกษาค้นคว้าจึงสนใจพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง การป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามรูปแบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง โดยมีความมุ่งหมายเพื่อ (1) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ของนักเรียนชั้นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน (3) เพื่อศึกษาความสามารถในการใช้ทักษะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศของนักเรียนหลังเรียน กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดสโมสร ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 40 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้ามี 3 ชนิด ได้แก่ (1) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามรูปแบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการใช้ทักษะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นแบบทดสอบชนิดปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ (3) แบบวัดความสามารถในการใช้ทักษะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ของนักเรียน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบวิลคอกซัน (The Wilcoxon Matched Pairs Singed-Ranks Test)
ผลการศึกษาค้นคว้า ปรากฏดังนี้ (1) ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามรูปแบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการใช้ทักษะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.93/82.50 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ (2) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (3) นักเรียน มีความสามารถในการใช้ทักษะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศในระดับมาก
โดยสรุป เรื่อง การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามรูปแบบพหุปัญญา ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลอง ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น และช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการใช้ทักษะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงควรส่งเสริมให้ครูผู้สอนในระดับชั้นต่าง ๆ ได้นำไปใช้ในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน เพื่อพัฒนาปัญญาหลายๆ ด้านของผู้เรียนต่อไป