ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
ของโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์
ผู้วิจัย : นางสาวสุมณี บูรณ์เจริญ
ปีการศึกษา : 2566
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) สร้างรูปแบบ 3) ทดลองใช้รูปแบบ และ 4) ประเมินรูปแบบ ของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ของโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา เป็นการศึกษาวิธีวิจัยแบบผสมผสานเชิงปริมาณ โดยมีเครื่องมือเป็นแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา การวิเคราะห์สถิติด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยเลือกแบบเจาะจง และเชิงคุณภาพ ใช้เครื่องมือเป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ครูโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและสรุปภาพรวมโดยมีวิธีการดำเนินการ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยการศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น ทำการสัมภาษณ์ครู จำนวน 21 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน 2) สร้างรูปแบบ โดยการยกร่างรูปแบบ ทำการตรวจสอบรูปแบบและคู่มือโดยผู้เชี่ยวชาญ 3) ทดลองใช้รูปแบบ กับครูโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ จำนวน 21 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง และ 4) ประเมินรูปแบบ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต กับกลุ่มครูโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา จำนวน 21 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. จากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ครูและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ว่า 1) รูปแบบมี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการ เนื้อหา การวัดและประเมินผล เงื่อนไขการนำไปใช้ 2) การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ การส่งเสริมการออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกในชั้น 3) แนวทางการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่นำมาใช้ในการพัฒนาครู คือ การใช้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพและการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน การสัมภาษณ์ครู พบว่า ครูมีความต้องการพัฒนาด้านการออกแบบการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก การใช้เทคนิคการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดขั้นสูง ทักษะอาชีพ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแนวทางสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก มีดังนี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ และควรเน้นการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติงานประจำ ทั้งการจัดการเรียนการสอน การทำงานพิเศษต่าง ๆ ของโรงเรียน ส่งเสริมให้ครูศึกษาพัฒนาตนเองเพิ่มเติมจากสื่อต่าง ๆ จัดทำเอกสารและเครื่องมือต้นแบบ สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียน ส่งเสริมให้ครูมีการเปิดชั้นเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสะท้อนคิดเห็นร่วมกัน นิเทศ ติดตามภายในองค์กรและภายนอก และสนับสนุนให้ครูมีบทบาทในการนำเสนองาน
2. รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการ เนื้อหา การวัดและประเมินผล เงื่อนไขการนำไปใช้ โดยมีกระบวนการ 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1)ขั้นเตรียมความพร้อมและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน 2)ขั้นพัฒนาความคิดและกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ 3)ขั้นปฏิบัติการสอนและการสังเกตชั้นเรียน 4)ขั้นสะท้อนผลและเรียนรู้ร่วมกัน 5)ขั้นเผยแพร่และสร้างเครือข่าย 6)ขั้นสร้างความยั่งยืนและต่อเนื่อง ผลการประเมินรูปแบบและคู่มือการใช้มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ พบว่า 1)ครูมีความสามารถในการออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เชิงรุกโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 2) ครูมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในชั้นเรียนโดยรวมอยู่ในระดับดี 3)การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยรวมมีจุดเด่น คือ โรงเรียนมีการจัดประชุมประจำเดือน โรงเรียนมีการเปิดโอกาสให้คณะครู นักเรียน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย โดยมีการจัดการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง จุดที่ควรพัฒนา ควรแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีคุณภาพ สามารถนำไปใช้จัดการเรียนรู้เชิงรุกในชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ ครูควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน ให้ความช่วยเหลือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ในระยะยาว และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาต่อเนื่อง คือ การปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยเน้นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลายให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
4. ผลการประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของโรงเรียนเชื้อเพลิงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุรินทร์ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านที่ครูมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ด้านปัจจัยนำเข้า รองลงมา คือ ด้านผลผลิต และ ด้านกระบวนการ