ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ผู้วิจัย นางสาลี่ เชิดชู
ปีที่ศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. เพื่อศึกษาสภาพและแนวการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 2. เพื่อสร้างการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 3. เพื่อประเมินการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และ 4. เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ ใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ครูผู้สอนในโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 20 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 153 คน และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 153 คน ซึ่งการคัดเลือกนักเรียนกลุ่มตัวอย่างใช้เกณฑ์ความสามารถสื่อสารได้ ในปีการศึกษา 2565 เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย ครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แบบประเมินความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศ 2) แบบตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 4 ฉบับ 3) แบบตรวจสอบผลการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน 4) แบบตรวจสอบผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และ 5) รายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ O-NET ดำเนินการตรวจสอบความเหมาะสมและความสอดคล้องของรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศโดยผ่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และครู ผู้มีประสบการณ์สอนไม่น้อยกว่า 10 ปี วิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพและแนวการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียน ศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี พบว่า ผู้บริหารขาดการวางแผนงาน มีการกำหนดเป้าหมายแต่ขาดการปฏิบัติตาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ด้านครูและกิจกรรมการเรียนรู้ ไม่มีการวิเคราะห์หลักสูตร ขาดการวางแผนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลไม่เป็นระบบ ด้านคุณภาพของนักเรียน ระบบการประเมินผลไม่สอดคล้องกับสภาพจริง และด้านการรายงานผล ไม่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการประเมินและสรุปงาน และแนวทางการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี พบว่า ผู้บริหารต้องมีระบบการวางแผนงาน มีการจัดทำแผน พันธกิจ เป้าหมายให้ชัดเจน จัดวางระบบการนิเทศอย่างต่อเนื่อง ด้านครูควรต้องมีการวิเคราะห์หลักสูตร วางแผนระบบ การบริหารจัดการชั้นเรียน มีการจัดทำแผนการเรียนรู้ การวัดและประเมินตามตัวชี้วัด การวางแผนระบบการบริหารจัดการชั้นเรียนตลอดจนการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี เพื่อแก้ปัญหาร่วมกับคณะครูต่อไป
2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี พบว่า ผลการยกร่างรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 กำหนดนโยบาย (Policy) ขั้นที่ 2 นำนโยบายสู่ห้องเรียน (Do) ขั้นที่ 3 ร่วมนำสู่การปฏิบัติ (Acting) ขั้นที่ 4 ร่วมสะท้อนผลสู่การพัฒนา (Reflecting) และขั้นที่ 5 พัฒนางานวิชาการสู่ความเป็นเลิศ (Excellence) และผลการประเมินความเหมาะสม และความสอดคล้องของร่างรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และครู พบว่า ผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( X-bar=4.28, S.D.=0.56)
3. ผลการประเมินความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้บริหารสถานศึกษาและครู พบว่า ผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับมาก(X-bar =4.26, S.D.=0.56)
4. ผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี สรุปได้ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
4.1 ผลการบริหารงานของรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 กำหนดนโยบาย (Policy) ขั้นที่ 2 นำนโยบายสู่ห้องเรียน (Do) ขั้นที่ 3 ร่วมนำสู่การปฏิบัติ (Acting) ขั้นที่ 4 ร่วมสะท้อนผลสู่การพัฒนา (Reflecting) ขั้นที่ 5 พัฒนางานวิชาการสู่ความเป็นเลิศ (Excellence) พบว่า ค่าเฉลี่ยในภาพรวมทุกขั้นตอน อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย ปีการศึกษา 2564 ( X-bar=4.22 เท่ากับ S.D.=0.56) และปีการศึกษา 2565 ( X-bar=4.22 เท่ากับ S.D.=0.55) ตามลำดับ
4.2 ผลการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการใช้รูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 1) ผลสัมฤทธิ์การเรียนภาพรวมมีผลการเรียนรู้อยู่ในระดับพอใช้ (X-bar=4.33 , S.D.=0.51) และเมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการทั้งสองปีการศึกษา 2564 2565 พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีผล การพัฒนาสูงขึ้นสูงสุด คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีคะแนนพัฒนาการสูงที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O- NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าต้นสังกัดทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งสองปีการศึกษา แต่เมื่อพิจารณาผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O- NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าต้นสังกัด ในขณะที่กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าต้นสังกัด ตลอดสองปีการศึกษา
4.3 ผลการศึกษาความพึงพอใจของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการบริหารจัดการงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ปีการศึกษา 2564 -2565 พบว่า มีความพึงพอใจภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar=4.64, S.D.=0.48)