เรื่อง การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
ชื่อผู้วิจัย นางสาวธันยพัฒ เมาจา
ความสำคัญและที่มา
จากการศึกษาแผนการศึกษาแห่งชาติ(พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-5ปี) ทุกคนให้ได้รับการพัฒนา และเตรียมความพร้อม มีนโยบายการพัฒนาคนไทยทุกคนให้มีทักษะกระบวนการ ในการจัดการวิเคราะห์ และแก้ปัญหา มีความรู้ ความสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องเต็มตามศักยภาพ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติ และเทคโนโลยี สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม
ผู้วิจัยเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการจัดประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับปฐมวัย จึงได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาคุณลักษณะตามวัยของเด็กปฐมวัย ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตลอดจนพัฒนากระบวนความคิด กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งต่างๆรอบตัว รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1.เพื่อให้เด็กเล็กมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
2.เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อน
และหลังการใช้กิจกรรมการเรียนรู้
นิยามศัพท์เฉพาะ
ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง ทักษะการคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า สืบเสาะหาความรู้ และแก้ปัญหาต่างๆ ทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ ขั้นพื้นฐาน มี 8 ทักษะ ดังนี้
1.ทักษะการสังเกต
เป็นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างใด อย่างหนึ่งหรือ ใช้หลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย เพื่อค้นหาและบอกรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ที่สังเกต โดยที่ไม่ใส่ความคิดเห็นของผู้สังเกตลงไป
2.ทักษะการจำแนกประเภท
เป็นการแบ่งพวก การจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ หรือการเรียงลำดับ วัตถุ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆออกเป็นหมวดหมู่ โดยใช้ความเหมือนกันหรือ ความแตกต่างกัน มาเป็นเกณฑ์ในการจำแนกวัตถุ เหตุการณ์ หรือสิ่งต่าง ๆ ออกจากกัน
3.ทักษะการวัด
เป็นการเลือกและการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อหาค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาเป็นตัวเลขได้ถูกต้องและเหมาะสม กับสิ่งที่ต้องการวัดรวมทั้งบอกหรือระบุหน่วยของตัวเลขที่ได้มาจากการวัดอย่างถูกต้อง
4.ทักษะการใช้จำนวน
เป็นการใช้ความรู้สึกเชิงจำนวนและการคำนวณ โดยการนับจำนวนหรือคิดคำนวณเพื่อบรรยายหรือระบุรายละเอียดเชิงปริมาณของสิ่งที่สังเกตหรือทดลองได้