ผู้วิจัย : นายประวัติ เพียสมนา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด : โรงเรียนพระธาตุขามแก่นพิทยาลัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ปีที่ศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้านร่วมกับเทคนิค อาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยมีขั้นตอนในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) การออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) การทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ และ 4) การประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนพระธาตุขามแก่นพิทยาลัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 18 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster random sampling) และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในระยะนี้ คือ 1) แบบประเมินความต้องการพื้นฐานเพื่อการจัดการเรียนรู้รายวิชา พ21101 สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรวบรวมแนวคิดในการจัดกิจกรรมรูปแบบ การจัดการเรียนรู้ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้านร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้านร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) การศึกษาความต้องการพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนการสอนรายวิชา พ 22101 สุขศึกษา สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นักเรียนมีความเห็นต้องการพัฒนาคุณภาพการคิดวิเคราะห์ ระดับความคิดเห็นมากที่สุด (x̄= 4.63, S.D.= 0.49) และจากการสัมภาษณ์ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา จำนวน 5 คน นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีปัญหาการคิดวิเคราะห์ โดยนักเรียนบางคนไม่มีความกระตือรือร้น ความเข้าใจในหลักการคิดวิเคราะห์ มาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทำให้เกิดความท้อแท้ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน รวมถึงตัวนักเรียนขาดความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบในการมั่นใจในการทำงาน การจัดกิจกรรมการเรียน การสอนด้วยวิธีดังกล่าว น่าจะส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
2) ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน ร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า ICE-R-C-A Model โดยรูปแบบการเรียนการสอนมีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการกิจกรรม สิ่งที่เสริมการเรียนรู้ได้แก่ ระบบสังคม หลักการตอบสนองและสิ่งสนับสนุน รวมทั้งแนวคิดการจัดการเรียนรูโดยใช้เทคนิคอาร์-ซี-เอ และการประเมินผลตามสภาพจริง สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ICE-R-C-A Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีส่วนประกอบ ดังนี้ 1) ขั้นการเริ่มต้นเนื้อหาบริบทใหม่ (IC : Initiate Context) 2) ขั้นกำหนดเหตุการณ์ (E : Event) 3) ชั้นการสะท้อนกลับ (R : Reflect) 4) ชั้นการเชื่อมโยง (C : Connect) 5) ชั้นการปรับใช้ (A : Apply) ผลการประเมินคุณภาพจาก เชี่ยวชาญ 5 ท่านโดยภาพรวมอยู่อันดับคุณภาพดี แสดงว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้มีความสอดคล้อง กับวัตถุประสงค์
3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้านร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยการสอนแบบนี้มีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี นำเสนอผลงานเป็นที่น่าพอใจ ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ (E1/E2) เท่ากับ 86.94/84.44
4) ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน ร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า
4.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์ ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน ร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน ร่วมกับเทคนิคอาร์-ซี-เอ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.40, S.D.= 0.76)