ชื่อเรื่อง กระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข
ผู้วิจัย นางสาวนราภรณ์ คงเหมือน
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข
ปีการศึกษา 2566
บทสรุปผู้บริหาร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความเหมาะสมของกระบวน การพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข 2) เพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข และ 3) เพื่อศึกษาผลของกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองพัทลุง ครูผู้สอน และผู้เรียนโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข ปีการศึกษา 2566 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 30 ข้อ 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบประเมินทักษะอาชีพของผู้เรียน และ 4) แบบประเมินการปฏิบัติงานของครูผู้สอน ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการทางสถิติ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข โดยรวมทั้ง 9 ด้าน อยู่ในระดับมาก (μ = 3.70, σ =0.84) และความเหมาะสมของกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข โดยรวมทั้ง 9 ด้าน อยู่ในระดับมาก (μ = 3.74, σ =0.83)
2. ผลการพัฒนากระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุข ประกอบด้วย 9 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาหลักสูตร 2) การจัดการเรียนการสอน 3) การจัดสรรทรัพยากร 4) การระดมทรัพยากร 5) การพัฒนาบุคลากร 6) การสร้างขวัญกำลังใจ 7) การสร้างแรงจูงใจ 8) การมีส่วนร่วม และ 9) การประสานงาน
3. ผลของกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3.1 ผลที่เกิดกับผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนผ่านเกณฑ์การประเมินทุกทักษะ เมื่อพิจารณารายละเอียด แต่ละทักษะอาชีพ พบว่า ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการทำงาน คิดเป็นร้อยละ 67.17 มีค่าร้อยละสูงสุด ส่วนทักษะการจัดการ คิดเป็นร้อยละ 49.27 มีค่าร้อยละต่ำสุด เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3.2 ผลที่เกิดกับครูผู้สอน โดยรวมอยู่ในระดับดี (μ =3.68, σ=0.47) และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ปรากฏว่า ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (μ = 3.85, σ=0.37) มีค่าเฉลี่ยสูงสุด และด้านการสร้างและพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ (μ = 3.55, σ=0.51) มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้