ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณลักษณะสถานศึกษาพอเพียง ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ผู้รายงาน นายอนุชา ขวาไทย
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2565
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการประเมินโครงการการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณลักษณะสถานศึกษาพอเพียง ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองการประเมินซีโป (CPOs Evaluation Model) ตามกรอบแนวคิดของเยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี มาเป็นรูปแบบการประเมินโครงการ โดยมีวิธีการประเมิน คือ การประเมินโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้ประเมินได้สร้างขึ้น โดยใช้รูปแบบการประเมินซีโป คือ ปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ กระบวนการดำเนินโครงการ และผลผลิตของโครงการ
ประชากรในการวิจัย ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 25 คน นักเรียนชั้นมัยมศึกษาปีที่ 1 6 ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 173 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 200 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 3 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และ แบบสังเกตและวิเคราะห์เอกสารโครงการการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณลักษณะสถานศึกษาพอเพียง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1.การประเมินปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ พบว่า ผลการสังเกตและวิเคราะห์เอกสารปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ มีค่าอยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยพบว่า
1.1 ความต้องการจำเป็นของโครงการ ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการสื่อสารในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งทางตรงและทางอ้อม การให้ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี
1.2 ความเป็นไปได้ของโครงการ จากพื้นฐานเดิมของโรงเรียนสระพังวิทยาคม ที่ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในสถานศึกษา ผ่านการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น ทำให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาต่อยอดและนําไปปฏิบัติได้จริง
1.3 วัตถุประสงค์ของโครงการ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายและลักษณะของโครงการ สามารถวัดและประเมินผลได้
1.4 ความพร้อมและทรัพยากร พบว่า นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสภาพที่เตรียมพร้อมในการปฏิบัติงาน มีบุคลากรที่เพียงพอ อาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมและหลากหลาย มีงบประมาณสนับสนุน เป็นต้น ที่จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การดำเนินงานสำเร็จได้
2.การประเมินกระบวนการดำเนินโครงการ พบว่า มีค่าอยู่ในระดับมากที่สุด การสังเกตและวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับด้านกระบวนการการดำเนินโครงการ มีค่าอยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3.การประเมินผลผลิตของโครงการ พบว่า มีค่าอยู่ในระดับมากที่สุด การสังเกตและวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตของโครงการ พบว่า มีค่าอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ดังนั้นเพื่อให้โครงการการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณลักษณะสถานศึกษาพอเพียง ให้ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการในดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมโดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ การวางแผนงานในการขับเคลื่อนโครงการ มีการนิเทศติดตามและการประเมินผล เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น