ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนเทศบาล ๒ หนองบัว
ผู้วิจัย วรวิทย์ ตั้นเหลียง
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนเทศบาล ๒ หนองบัว มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนเทศบาล ๒ หนองบัว ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียน และ นักเรียน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง และกำหนดขนาดตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเคร็จซี่และมอร์แกน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินผลการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ วิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่และวิเคราะห์เนื้อหา โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ และนำเสนอในลักษณะความเรียง
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น โดยประเด็นความต้องการจำเป็น ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ผลการสัมภาษณ์ พบว่า สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านฐานการเรียนรู้ 6 ฐาน ควรออกแบบการเรียนรู้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ให้ทันสมัย มีทั้งระบบออนไลน์และทำงานในพื้นที่จริง มีปัญหาในการจัดกิจกรรมที่ยังจำกัดอยู่ภายในห้องเรียนและสถานศึกษา และยังขาดความร่วมมือกับชุมชน โอกาสและความคาดหวังในการจัดโครงการ ควรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักของสถานศึกษา พัฒนหลักสูตรเฉพาะ กำหนดหน่วยการเรียนรู้ในทุกรายวิชาร่วมกัน และควรจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนพอเพียง กิจกรรมบูรณาการผ่านประสบการณ์ชีวิตจริงไม่เน้นรูปแบบตายตัว มีสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ครูทำวิจัยด้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลุ่มลึก เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และต้องสร้างเครือข่ายในหน่วยงานอื่นอย่างกว้างขวาง
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านบุคลากร มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านวิธีการ ด้านระบบการบริหารจัดการ ด้านงบประมาณ ด้านแรงจูงใจ และด้านทรัพยากร มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านการวางแผน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านการดำเนินการ ด้านการปรับปรุง แก้ไข และด้านการตรวจสอบ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ประกอบด้วย
4.1 ผลลัพธ์ และผลกระทบ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
โดยผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ด้านคุณภาพของผลงาน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ ผลลัพธ์เชิงปริมาณ และผลลัพธ์เชิงคุณภาพด้านคุณภาพของผู้เรียน มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
4.2 ผลการจัดการเรียนรู้
4.2.1 ผลการจัดการเรียนรู้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับสูง และผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยด้านการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และด้านผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
4.2.2 ผลการวัดพฤติกรรมความพอเพียงของผู้เรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และ
ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยผลลัพธ์เชิงปริมาณ ด้านพฤติกรรมที่สะท้อนความมีเหตุผล มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ พฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรม พฤติกรรมที่สะท้อนความพอประมาณ พฤติกรรมที่สะท้อนการมีภูมิคุ้มกัน และพฤติกรรมที่สะท้อนการมีความรู้ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
4.2.3 ผลการบันทึกสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนมีความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นผ่านการเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้บนฐานการเรียนรู้ 6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการผลิตผลงานตามแนวทาง 4R Repair Reduce Reuse Recycle โรงเรียนยังจัดสรรเวลาในการดำเนินโครงการไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ เพราะกระทบต่อเวลาเรียนปกติ มีการใช้สื่อ เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ในชั้นเรียนและการดำเนินการในศูนย์การเรียนรู้ ควรปรับกิจกรรมให้น่าสนใจมากขึ้น มีความท้าทายต่อการเรียนรู้ ไม่ซ้ำซ้อน เหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้น และควรลดการเรียนรู้เนื้อหาลง และเพิ่มกิจกรรมที่สนุกสนานที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน
4.3 ผลการสัมภาษณ์ ประกอบด้วย 1) ความสำเร็จของโครงการ มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผน ผลผลิตที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับนโยบาย พันธกิจ และยุทธศาสตร์ขององค์กร สามารถนำมากำหนดทิศทางเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษาได้ ผู้เรียนมีพฤติกรรมด้านความพอเพียงทุกด้าน โดยเฉพาะด้านความมีเหตุผล และควรมีการนำข้อมูลสารสนเทศจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลของโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา 2) ปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา ผู้เรียนมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีความรู้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถนำความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้มาก เวลาในการจัดกิจกรรมไม่เพียงพอ งบประมาณมีจำกัด การจัดโครงการกระทบต่อการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรปกติของโรงเรียน และครูทุกคนควรสนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเพื่อให้มองเห็นคุณค่าของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรอบด้าน 3) สิ่งที่ได้เรียนรู้ เกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายโรงเรียนกับชุมชน สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชุมชนสู่สากล มุ่งเน้นขยายความนิยมของประเพณีวัฒนธรรมและสินค้าในชุมชนสู่การยอมรับได้ผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าชุมชน สร้างพลังขับเคลื่อนทางสังคมจนนำไปสู่การเกิดกระแสหรือไวรัลได้ สามารถนำองค์ความรู้ ผลผลิต ความสำเร็จ รวมทั้งต้นแบบเยาวชนนำเสนอในช่องทางการเรียนรู้ได้หลากหลาย
4.5 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านบริบทของโครงการ ด้านกระบวนการ และ ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ