การพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ
ผู้รายงาน นายอนุชา ขวาไทย
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2565
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการดำเนินงานหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ 2) หลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนสระพังวิทยาคม 3) พัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ 4) ศึกษาประสิทธิผลของหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน 2) การพัฒนาหลักสูตรฉบับร่าง การประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องโดยผู้เชี่ยวชาญ และการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร 3) การทดลองใช้หลักสูตรกับนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 4) การประเมินประสิทธิผลของหลักสูตรและปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 65 คน ที่ได้จากการสุ่มแบบแบ่งชั้น(Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามความสนใจหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ 2) แบบสัมภาษณ์ กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured interview) เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ 3) แบบประเมินความสอดคล้องของร่างหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม 4) แบบประเมินความเหมาะสมของร่างหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม 5) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ 6) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง การบัญชีเบื้องต้น 7) แบบสะท้อนความคิดเห็นหลังการทดลองนำร่องหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ 8) แบบประเมินความพึงพอใจในการใช้หลักสูตร เป็นแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนหลังเรียนด้วยหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
ผลการวิจัยพบว่า
1.หลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา (Continuous and Linking Curriculum : CLC) ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ มีรูปแบบในการดำเนินงาน จำนวน 3 หลักสูตร รวม 44 สาขาวิชา คือ
1) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพของอาชีวศึกษา(ปวช.) จำนวน 12 สาขาวิชา
2) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 3 สาขาวิชา
3) หลักสูตรระยะสั้น จำนวน 29 สาขาวิชา
มีสถาบันที่ร่วมดำเนินการทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 7 แห่ง ประกอบไปด้วย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเมืองชัยภูมิ วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ วิทยาลัยการอาชีพบำเหน็จณรงค์ วิทยาลัยการอาชีพแก้งคร้อ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยภูมิบริหารธุรกิจ และมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ โดยมีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เข้าร่วมโครงการ รวมจำนวน 21 โรงเรียน ประกอบด้วย
1) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ จำนวน 2 โรงเรียน
2) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 จำนวน 7 โรงเรียน
3) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 2 จำนวน 6 โรงเรียน
4) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 จำนวน 4 โรงเรียน
5) สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 2 โรงเรียน
2. หลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งเป็นหลักสูตรมีความเหมาะสมมากที่สุด มีความทันสมัย และเนื้อหาวิชาเหมาะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายประกอบด้วย 1) หลักการของหลักสูตร 2) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 3) เนื้อหาสาระของหลักสูตร ประกอบด้วย 12 บทเรียน ๆ ละ 40 ชั่วโมง ได้แก่ บทที่ 1 ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ บทที่ 2 การบัญชีเบื้องต้น บทที่ 3 เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น บทที่ 4 การขายเบื้องต้น บทที่ 5 ระบบปฏิบัติการเบื้องต้น บทที่ 6 คอมพิวเตอร์และการบำรุงรักษา บทที่ 7 เครือข่ายคอมพิวเตอร์เบื้องต้น บทที่ 8 การสร้างเว็บไซต์ บทที่ 9 หลักการเขียนโปรแกรม บทที่ 10 อินเตอร์เน็ตในงานธุรกิจ บทที่ 11 โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ บทที่ 12 การคำนวณต้นทุนเพื่องานอาชีพ 4) กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 5) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของหลักสูตร 6) สื่อและแหล่งเรียนรู้ และ7) การวัดและประเมินผลหลักสูตร
3. การตรวจสอบประสิทธิผลของหลักสูตร โดยนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลก่อน ระหว่าง และหลังการใช้หลักสูตรกับกลุ่มตัวอย่าง มาตรวจสอบกับเกณฑ์ประสิทธิผลของหลักสูตร พบว่า หลักสูตรมีประสิทธิผลตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้ 1) หลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาของโรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ (หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ) มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยมีความพึงพอใจในการใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด