ชื่อเรื่อง การพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ :ค่ายลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัดบวรมงคล ด้วยกระบวนการพัฒนานวัตกรรม ADDIE Model
ผู้พัฒนา นายชาตรี จินดามณี
ปีที่พัฒนา ปี 2566
ประเภทผลงาน นวัตกรรม
บทสรุปผู้บริหาร
การพัฒนานวัตกรรมนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการในการพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ 3) เพื่อพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานตามกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่คุณภาพ 4) เพื่อทดลองใช้กระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพผ่านการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์โรงเรียนวัดบวรมงคล และ 5) เพื่อประเมินผลการใช้กระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ
การดำเนินการพัฒนานวัตกรรมตามแบบ ADDIE Model อันประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคือ
1. Analysis ศึกษาสภาพ ปัญหาและความต้องการในการพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ โดยสังเคราะห์เอกสารเกี่ยวกับกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมรูปแบบต่าง ๆ จากนั้นกรอบการสัมภาษณ์แบบ Focus Group จากครูโรงเรียนวัดบวรมงคล 18 คน และนักเรียนคณะกรรมการนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมค่ายและร่วมกิจกรรมค่ายที่โรงเรียนจัดขึ้น โดยผลการสัมภาษณ์จะถูกจำแนกประเด็นด้วยวิธีการ PMI คือการระบุคำตอบว่าเป็นประเด็นเชิงบวก ประเด็นเชิงลบ หรือประเด็นที่น่าสนใจ
2. Design ออกแบบหรือยกร่างรูปแบบกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ ที่ได้จากการวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องและผลการสัมภาษณ์ครูและนักเรียน จากนั้นสอบถามความคิดเห็นและขอการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน
3. Develop พัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานตามกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ตรวจสอบและประเมิน นอกจากนี้ยังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมค่ายลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นค่ายสำหรับการทดลองนวัตกรรม โดยให้ผู้เชี่ยวชาญอีก 3 ท่านเป็นผู้ตรวจสอบและประเมิน ทั้งนี้การพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ได้ใช้กระบวนการพัฒนาแบบ ADDIE Model เช่นเดียวกัน
4. Implement ทดลองใช้นวัตกรรมกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ กับกิจกรรมค่ายลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัดบวรมงคล โดยใช้คู่มือการปฏิบัติงานตามกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพเป็นเครื่องมือประกอบกระบวนการปฏิบัติงานในภาพรวม ส่วนในรายละเอียดของกิจกรรมค่ายจะใช้หลักสูตรและคู่มือการจัดกิจกรรมเป็นแนวปฏิบัติ
5. Evaluate ประเมินการทดลองใช้กระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพในส่วนของคุณภาพของการดำเนินการตามกระบวนการ ผลของการดำเนินการที่มีต่อคุณภาพของผู้เรียน และความพึงพอใจของผู้เรียน โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารและครูผู้สอน วิทยากรและวิทยากรพี่เลี้ยง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนรวมจำนวน 257 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการในการพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพพบว่า โรงเรียนวัดบวรมงคลได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนผ่านกิจกรรมค่าย ต่าง ๆ อันได้แก่ ค่ายพักแรมลูกเสือเนตรนารี ค่ายวิชาการ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายทักษะชีวิต และค่ายประวัติศาสตร์ เป็นต้น โดยโรงเรียนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมค่ายโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายและทิศทางการจัดการศึกษาของต้นสังหัดและสถานศึกษา รวมถึงความต้องการของผู้เรียน โดยมีความพยายามในการจัดกิจกรรมให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความปลอดภัยกับผู้เรียน แต่ยังขาดกระบวนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานและเป็นขั้นตอนจึงทำให้การปฏิบัติงานไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ทั้งนี้จากการวิเคราะห์เอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมในรูปแบบต่าง ๆรวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการสัมภาษณ์ครู และนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมค่ายพักแรม พบว่า กระบวนการจัดกิจกรรมค่ายควรจะประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการจัดค่าย การดำเนินงานและกำกับติดตาม และขั้นการประเมินผลการจัดกิจกรรมค่าย
2. ผลการสร้างและตรวจสอบกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ พบว่า กระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก และ 18 ขั้นตอนย่อยดังนี้คือ
ขั้นที่ 1 การเตรียมการจัดการค่าย ประกอบด้วย 13 ขั้นตอนย่อยคือ 1) การจัดทำโครงการค่าย 2) การจัดทำหลักสูตรค่าย 3) การจัดทำเอกสารหรือคู่มือกิจกรรม 4) การบริหารงบประมาณ 5) การบริหารด้านบุคลากร 6) การเตรียมความพร้อมนักเรียน 7) การเตรียมการด้านอาหาร 8) การเตรียมการด้านสุขภาพและความปลอดภัย 9) การเตรียมการด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก 10) การเตรียมการด้านวัสดุอุปกรณ์ 11) การจัดทำระบบควบคุมงานและการบริหารความเสี่ยง 12) การเตรียมการด้านการเดินทาง 13) การเตรียมเอกสารตามระเบียบการนำนักเรียนไปนอกสถานที่
ขั้นที่ 2 การดำเนินงานและกำกับติดตาม ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนย่อยคือ 1) บริหารจัดการและกำกับติดตาม 2) การดำเนินกิจกรรมตามหลักสูตร
ขั้นที่ 3 การประเมินผลการจัดกิจกรรมค่าย ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนย่อยคือ 1) ประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ค่าย 2) ประเมินผลวิธีการ/กระบวนการจัดค่าย 3) การรายงานผล ทั้งนี้ผู้พัฒนาได้นำกระบวนการดังกล่าวที่มีการถึงแสดงองค์ประกอบและขอบข่ายการดำเนินการ นำเสนอผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตรวจสอบและประเมิน พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิให้การรับรองว่ากระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่ออกแบบมีคุณภาพโดยมีผลการประเมินทุกขั้นตอนหลักและขั้นตอนย่อยในระดับมากที่สุด
3. ผลการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานตามกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่คุณภาพ พบว่า คู่มือปฏิบัติงานจะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นระบบ มีการกำหนดหน้าที่และขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงระบบการควบคุมงานและการติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อให้มีความผิดพลาดในการทำงานลดน้อยลง ทั้งนี้ผู้พัฒนาได้นำคู่มือปฏิบัติงานดังกล่าวนำเสนอผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตรวจสอบและประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิได้รับรองคู่มือการปฏิบัติงานและมีผลการประเมินทุกด้านในระดับมากที่สุด
4) ผลการใช้กระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ พบว่า ในการนำกระบวนการจัดกิจกรรมที่ออกแบบไปทดลองใช้ ผู้พัฒนาจำเป็นต้องมีการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมขึ้น ทั้งนี้ได้มีการใช้กระบวนการพัฒนานวัตกรรมแบบ ADDIE Model มาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรค่ายลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์ โดยจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาพบว่า นักเรียนจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของรายวิชาประวัติศาสตร์และลูกเสือโดยให้ว่าการเรียนรู้น่าเบื่อหน่าย โดยทางโรงเรียนแก้ไขได้จัดกิจกรรมค่ายประวัติศาสตร์ให้นักเรียนควบคู่กับค่ายพักแรมลูกเสือเนตรนารี แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดจึงไม่สามารถจัดทั้งสองค่ายในปีเดียวกันได้ จึงเห็นความจำเป็นที่จะจัดค่ายพักแรมลูกเสือบูรณาการประวัติศาสตร์ จากนั้นจึงออกแบบหลักสูตรลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์และกิจกรรมตามหลักสูตรขึ้นและนำเสนอผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินพบว่ามีผลการประเมินทุกด้านอยู่ในระดับมาก พร้อมกันนี้ได้มีการออกแบบคู่มือกิจกรรมเพื่อให้การดำเนินการจัดกิจกรรมเป็นไปอย่างถูกต้องชัดเจนโดยผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินผลออกมาในระดับมากที่สุดทุกกิจกรรม
การนำลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์และกิจกรรมไปจัดให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนวัดบวรมงคล ณ ค่ายลูกเสือชั่วคราว หมู่บ้านโปรตุเกส จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยมีกิจกรรมตามหลักวิชาลูกเสือและบูรณาการสาระทางประวัติศาสตร์จำนวน 12 กิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมการปฐมนิเทศ พิธีเปิด และเปิดประชุมกอง กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และนันทนาการ กิจกรรมเดินทางไกล กิจกรรมสูทกรรม กิจกรรมนักผจญภัย กิจกรรมนักโบราณคดี กิจกรรมนักบุกเบิก กิจกรรมบันเทิงและการแสดง กิจกรรมรอบกองไฟ กิจกรรมนักประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการจัดทำโครงการสร้างความภูมิใจในความเป็นไทย และกิจกรรมพิธีปิดประชุมกอง ผลการทดลองใช้พบว่า ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ ทักษะ และการมีส่วนร่วมเป็นไปตามตามเกณฑ์การประเมินของหลักสูตร และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อทุกกิจกรรมในระดับมาก
5. ผลการประเมินกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่มีคุณภาพ ปรากฏว่า
5.1 ผลการประเมินคุณภาพของกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายพักแรมที่พัฒนาขึ้น ในภาพรวมพบว่ากระบวนการจัดกิจกรรมมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด โดยขั้นการดำเนินการและติดตามมีผลการประเมินคุณภาพในระดับมากที่สุด และขั้นตอนย่อยที่ 1.13 การเตรียมเอกสารตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการนำนักเรียนไปนอกสถานที่ มีผลการประเมินคุณภาพในระดับมากที่สุด
5.2 ผลการจัดกิจกรรมค่ายลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ในภาพรวม พบว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นสามารถพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนในระดับมากที่สุด โดยกิจกรรมช่วยพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของรายวิชาลูกเสือมากที่สุด
5.3 ผลการประเมินความสอดคล้องของการจัดกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นกับรูปแบบการเรียนรู้รายวิชาลูกเสือและประวัติศาสตร์ที่นักเรียนต้องการในภาพรวมพบว่า มีความสอดคล้องในระดับมาก โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายวิชาพบว่ากิจกรรมค่ายที่จัดขึ้นมีความสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ที่ผู้เรียนต้องการในระดับมาก
5.4 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการดำเนินการตามกระบวนการจัดกิจกรรมค่ายที่พัฒนาขึ้น ในภาพรวมพบว่า นักเรียนมีความพึงใจต่อการดำเนินการตามกระบวนการจัดกิจกรรม ในระดับมากที่สุด โดยพึงพอใจต่อกระบวนการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของนักเรียน การแพ้ยา โรคประจำตัวมากที่สุด
5.5 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนจากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ประวัติศาสตร์ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเข้าร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผลการประเมินทักษะ การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของนักเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและโครงการ