การพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบ SMART KIDS Model
นวัตกรรมการพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบ SMART KIDS MODEL เป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในภาษาอังกฤษฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับผู้เรียนที่ขาดโอกาสใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน จึงมีความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาเชิงสังคม ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ที่ไม่เน้นการท่องจำคำศัพท์และไวยากรณ์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การออกเสียงที่ถูกต้อง ศึกษาวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา มีการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ให้เหมาะสมและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เรียนได้กล้าใช้ภาษาและกล้าแสดงออกมาขึ้น โดยนวัตกรรมการพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบ SMART KIDS MODEL สอดคล้องกับการดำเนินงานตามวงจร Deming (PDCA) ซึ่งเป็นวงจรการดำเนินงานอย่างมีลำดับขั้น และมีการควบคุมคุณภาพในการดำเนินกิจกรรม
ความหมายของ SMART KIDS MODEL
S : SOCIOLINGUISTIC COMPETENCE ภาษาศาสตร์เชิงสังคม
ผู้เรียนต้องมีความสามารถเกี่ยวกับการใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมตามกฎเกณฑ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การใช้คำและโครงสร้างประโยคได้เหมาะสมตามบริบทของสังคม เช่น การขอโทษ การขอบคุณ การถามทิศทาง การขอและให้ข้อมูลต่างๆ และการใช้ประโยคคำสั่ง เป็นต้น ผู้เรียนต้องรู้ว่าควรพูดอย่างไรในสถานการณ์ใด รู้จุดประสงค์ของการสนทนา ตลอดจนคำนึงถึงบทบาททางสังคมของตนเองและผู้ร่วมสนทนา
M : CLASSROOM MANAGEMENT การจัดการชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้
การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่าผู้เรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน ผู้สอนจึงต้องสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกมากที่สุดในห้องเรียน ดังนั้นการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการฝึกพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้
1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ผู้สอนกระตุ้นให้กำลังใจผู้เรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน ผู้เรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ โดยภาระงานควรกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะสื่อสาร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามถ้าบรรยากาศมีความท้าทายสูงเกินไปก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการพูดและมีแนวโน้มที่ผู้เรียนจะไม่กล้าพูดทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้สอนจึงควรปรับความท้าทายให้เหมาสมกับผู้เรียน
2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด บรรยากาศที่มีอิสระจะส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นอิสระก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดทักษะการคิดแก้ปัญหาขณะทำกิจกรรม และขณะฝึกพูดผู้เรียนสามารถใช้ภาษาตามความสามารถของตนเองได้อย่างอิสระ
3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ผู้สอนรู้สึกว่าผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้อื่น มีผู้พูดมีผู้ฟัง มีคำถามหรือข้อเสนอแนะจากผู้ฟัง มีการสนทนาและอภิปราย เป็นการจัดบรรยากาศให้ผู้เรียนเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย
4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน ในการจัดการเรียนรู้ผู้เรียนทุคนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรม ผู้สอนต้องพยายามให้พูดเรียนทุกคนได้พูด บางคนอาจอายไม่ค่อยกล้าพูดหน้าชั้นเรียน สามารถใช้กิจกรรมคู่หรือกลุ่ม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่ไม่กล้าพูดหน้าชั้นเรียนได้มีโอกาสพูดเป็นคู่หรือกลุ่ม การที่ผู้สอนจัดกรรมที่ยืดหยุดไม่ตายตัว ไม่แก้ข้อผิดพลาดถ้าไม่จำเป็นจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยไม่รู้สึกว่าบรรยากาศในการทำกิจกรรมนั้นน่ากลัว น่าอายหรือเสียหน้า ครูผู้สอนให้ความช่วยเหลือแบบเป็นกันเอง การให้คำชมเชยแทนการตำหนิเป็นการเสริมแรงทางบวกที่ช่วยให้ผู้เรียนกล้าเสี่ยง (risk taking) ในการพูด ไม่วิตกกังวล ทำให้อยากพูดมากขึ้น
5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ผู้สอนต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้ผู้เรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต มีการแก้ไขภาษาเพื่อให้พูดได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นผู้สอนสามารถแก้ไขได้ทันทีเมื่อผู้เรียนพูดไม่ถูก ในกรณีที่ข้อผิดพลาดนั้นเป็นข้อผิดพลาดที่มีความสำคัญในการใช้ภาษาและควรได้รับการแก้ไขอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ผู้เรียนรู้สึกกดดันและเกิดทัศคติที่ไม่มีต่อการเรียนภาษา
6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษา
A : ACTIVITY กิจกรรมส่งเสริมการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษ
จัดกิจกรรมการพูดที่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์การใช้ภาษาแบบอัตโนมัติและได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การใช้ภาษามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการใช้ภาษาในชีวิตจริง รูปแบบกิจกรรมมีความท้ายทายตามความเหมาะสมกับผู้เรียนและจัดบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยกล้าใช้ภาษาในการสื่อสาร รูปแบบกิจกรรมที่สามารถใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่
1. กิจกรรม inside outside circle
2. กิจกรรม hot potato
3. กิจกรรม interview
4. กิจกรรม role play
5. กิจกรรม English วันละนิด
R : REFLECTION การสะท้อนการเรียนรู้
กระบวนการที่ให้ผู้เรียนได้ทบทวนไตร่ตรอง ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และการกระทำของตนเองจากสถานการณ์ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือจากประสบการณ์ที่ได้รับ การหาเหตุผลมาสนับสนุน ทำให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้น นำไปสู่การตระหนักและให้ความหมายการกระทำของตนเองและให้คุณค่าต่อประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
T : EDUCATIONAL TECHNOLOGY เทคโนโลยีการศึกษา
เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือ ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ นำมาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน ดังนี้
1. ช่วยในการสอนให้เห็นภาพพจน์แทนของจริง เช่น จากภาพยนตร์ เทปโทรทัศน์ เป็นต้น
2. ช่วยในการส่งเสริมการเรียนการสอนด้วยความแตกต่างของนักเรียนแต่ละบุคคล ให้สามารถเข้าใจและเรียนรู้จากบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น
3.ช่วยให้เกิดมีการแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดต่างๆ ในระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นไปอย่างดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเป็นไปอย่างน่าสนใจและสนุกในบทเรียนนั้น
4. ช่วยเสริมสร้างให้ความรู้แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การใช้วิทยุการศึกษา โทรทัศน์การศึกษา เทปโทรทัศน์ เป็นต้น
KIDS : ผู้เรียนที่ได้รับการพัฒนา
ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบ SMART KIDS Model มีการพัฒนาความรู้ความสามารถสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่ประจักษ์