ชื่อเรื่อง รายงานการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามุกดาหาร
ผู้ศึกษา นายณัชฐวัชร์ กลางประพันธ์
โรงเรียน โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามุกดาหาร
ปีที่พิมพ์ 2565
บทคัดย่อ
การรายงานการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนคำชะอีวิทยาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มุกดาหาร กลุ่มผู้ร่วมศึกษา จำนวน 28 คน ประกอบด้วย มีผู้ศึกษา จำนวน 1 คน ครูประจำชั้น จำนวน 27 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 1,153 คน ประกอบด้วยครูประจำชั้น จำนวน 27 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 จำนวน 931 คนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 180 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ มีดังนี้ แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน และแบบบันทึกการประชุม โดยนำข้อมูลที่ได้มาหาความเชื่อมั่นของข้อมูลจากทฤษฎีหลายมิติ (Triangulation) นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาเพื่อสรุปและประเมินสภาพที่เกิดขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาได้แก่ร้อยละ
ผลการศึกษาปรากฏว่า
1. สภาพปัญหาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนด้านความมีวินัย ก่อนการดำเนินงานเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม พบว่า นักเรียนขาดวินัยด้านความประพฤติ และการแต่งกาย ขาดคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ที่ดีงาม ก่อให้เกิดปัญหาด้านความมีระเบียบวินัยในการเป็นนักเรียนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเนื่อง นักเรียนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อกำหนดของโรงเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก
2. การดำเนินการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน เป็นการร่วมกันระหว่างโรงเรียน บ้าน วัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดแนวทางเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนร่วมกันดำเนินการจัดกิจกรรม การกำกับติดตามและการประเมินผล โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา 3 กิจกรรม คือ การประชุมแบบ มีส่วนร่วม การอบรมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน และการเยี่ยมบ้านนักเรียน
3. ผลการดำเนินงาน
3.1 ด้านความประพฤติ มีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ประพฤติผิดระเบียบวินัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ปฏิบัติตนตามระเบียบ ข้อบังคับที่โรงเรียนกำหนดไว้ ได้แก่การเคารพครู การตั้งใจเรียน ความรับผิดชอบงานที่มอบหมาย การไม่เล่นการพนัน การไม่ทำลายทรัพย์สมบัติของโรงเรียน การไม่เสพสิ่งเสพติด ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.40 ซึ่งถือว่าบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้คณะครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนยังให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลความประพฤติของนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี ส่งผลให้นักเรียนมีความตระหนักในการประพฤติตน ให้มีคุณธรรม จริยธรรมอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้น
3.2 ด้านการแต่งกาย มีจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมผิดระเบียบวินัยด้าน การแต่งกายไม่ถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน เช่น การสวมเสื้อผ้า เข็มขัด สวมถุงเท้า และรองเท้า การไว้ทรงผมผิดระเบียบ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.59 ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และนักเรียน ได้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบวินัยของโรงเรียนมากขึ้น
3.3 ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.76 หมายความว่า ผู้ปกครองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนให้มีวินัยในด้านความประพฤติและ การแต่งกายที่ดีขึ้นนั้น ส่งผลให้เด็กนักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมปรับตัวเข้ากับสังคม ได้เป็นอย่างดีส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ดีขึ้น ทำให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ