ชื่อผู้วิจัย นางภริตพร อินทะนัน
1. ความสำคัญของผลงาน
1.1 ความสำคัญสภาพของปัญหา
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มีหลักการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถตามมาตรฐาน/ตัวชี้วัด สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด และทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม ผู้สอนต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของผู้เรียน ให้ความสำคัญกับการใช้สื่อ การพัฒนาสื่อ การใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการวัดและประเมินผลที่หลากหลายและนำผลที่ได้ใช้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนา ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดคุณภาพสูงสุดต่อผู้เรียน
โรงเรียนทุ่งสังพิทยาคม เป็นโรงเรียนขนาดเล็กตั้งอยู่ในเขต ตำบลทุ่งสัง อำเภอทุ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตชนบท โรงเรียนจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวนนักเรียน 117 คน บริบทของนักเรียนโรงเรียนทุ่งสังพิทยาคม ครอบครัวจะมีฐานะค่อนข้างลำบาก ต้องช่วยพ่อแม่กทำงานในช่วงเช้าก่อนมาเรียน และส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่แตกแยก ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการดูแลลูก ซึ่งส่งผลให้นักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น มาโรงเรียนสาย หนีเรียน ขาดเรียนบ่อย ขาดความรับผิดชอบในการส่งงาน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนเหล่านี้เป็นนักเรียนที่มีปัญหาทางด้านการเรียน สอบไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ติด 0 , ร, มส. ซึ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
ผู้ส่งผลงานในฐานะครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ศึกษาผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ย้อนหลัง 4 ปี พบว่า พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ส่วนใหญ่ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำและขาดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะหน่วยการเรียนรู้เรื่อง ดุลยภาพของสิ่งมีชีวิต นักเรียนจะได้คะแนนจากสอบรายหน่วยต่ำมาก จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ครูผู้สอนจึงต้องหาวิธีการสอน สื่อการสอนที่กระตุ้นความสนใจผู้เรียน ดึงผู้เรียนให้เข้าถึงบทเรียนให้ได้มากที่สุด
1.2 แนวทางแก้ปัญหา และพัฒนา
ปัจจุบันเป็นยุคที่โลกมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ของทุกภูมิภาคของโลกเข้าด้วยกัน กระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพของสังคมอย่างทั่วถึง มีการแข่งขันสูงทั้งในด้านการศึกษา อาชีพ เศรษฐกิจ ดังนั้นการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กในศตวรรษที่ 21 นี้ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็น ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ดังกล่าว อย่างไรก็ตามในยุคที่ โลกที่มีการแข่งขันสูง การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์นับเป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ ควรได้รับการพัฒนา และจากการศึกษาพบว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างมีคุณภาพสามารถช่วยพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้ เช่น ช่วยพัฒนาทักษะการคิดระดับสูง การแก้ปัญหา รวมทั้งการสื่อสารและความร่วม มือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจัดการเรียนรู้ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการฝึกปฏิบัติด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างมีคุณภาพมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 และควรเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนได้เตรียมตัวเพื่อใช้ชีวิตในโลกที่เป็นจริง เน้นการศึกษาตลอดชีวิตด้วยวิธีการที่มีความยืดหยุ่น มีการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และทำงานแบบร่วมมือกัน กระตุ้นให้ผู้เรียนต้องการศึกษาหาคำ ตอบอย่างต่อเนื่อง และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้ (สุพรรณี ชาญประเสริฐ, 2557จากการที่ผู้ส่งผลงานได้ศึกษาค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการสอนพบว่า กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน เป็นรูปแบบหนึ่งของการสืบเสาะหาความรู้ คือ การสร้างความสนใจ(Engagement) การสำรวจและค้นหา (Exploration) การอธิบาย (Explanation) การขยายความรู้(Elaboration) และการประเมินผล (Evaluation) ซึ่งทั้ง 5 ขั้นตอนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ครูจะต้องส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิด มีความคิดสร้างสรรค์ ให้โอกาสนักเรียนได้ ใช้ความคิดของตนเองได้มากที่สุด ทั้งนี้กิจกรรมที่จะให้นักเรียนสำรวจตรวจสอบ จะต้องเชื่อมโยงกับความคิดเดิม และนำไปสู่การแสวงหาความรู้ใหม่ และได้ใช้ กระบวนการและทักษะต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และการสืบเสาะหาความรู้ และการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD สามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้ ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาศักยภาพของตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเองและกลุ่ม มีปฏิสัมพันธ์กัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถ ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการคิดวิเคราะห์ได้เต็มศักยภาพอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมีแนวคิดในการจัดการเรียนรู้แบบ 5E ร่วมกับเทคนิค STAD เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ตลอดจนการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทุ่งสังพิทยาคมให้สูงขึ้น
2. จุดประสงค์และเป้าหมาย
การกำหนดจุดประสงค์และเป้าหมาย
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ดุลยภาพของสิ่งมีชีวิตโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ 5E ร่วมกับเทคนิค STAD
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจทางการเรียนของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์ โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ 5Eร่วมกับเทคนิค STAD
ผลการดำเนินงาน/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
4.1 ผลที่เกิดตามจุดประสงค์
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2. นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
3. นักเรียนมีความพึงพอใจในทางการเรียน ต่อการจัดการเรียนรู้แบบ 5E ร่วมกับเทคนิค STADอยู่ในระดับความพึงพอใจ มาก
4.2 ผลสัมฤทธิ์
1. การจัดการเรียนรู้แบบ 5E ร่วมกับเทคนิค STAD เรื่องดุลยภาพของสิ่งมีชีวิต สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้นและนักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น
4.3 ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้นวัตกรรม การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่องดุลยภาพของสิ่งมีชีวิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 5E ร่วมกับเทคนิค STAD ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทุ่งสังพิทยาคม
2. นักเรียนมีความสนใจและมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น
3. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น