ชื่อเรื่อง การพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองขลุง ๒ สังกัดเทศบาลเมืองขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
ผู้วิจัย นางสาววิภาวัลย์ พงศาบวรลักษณ์ หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองขลุง ๒ สังกัดเทศบาลเมืองขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู 2) หาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู และ 3) ติดตามผลการพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู โรงเรียนเทศบาลเมืองขลุง ๒ สังกัดเทศบาลเมืองขลุง อำเภอ ขลุง จังหวัดจันทบุรี ผู้ร่วมวิจัยได้แก่ ครูจำนวน 27 คน ปีการศึกษา 2565 โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ดำเนินการ 2 วงรอบ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การวางแผน (Planning) 2) การปฏิบัติการ (Action) 3) การสังเกตการณ์ (Observation) และ 4) การสะท้อนกลับ (Reflection) กลุ่มเป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้ คือ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย รวม 27 คนเครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบนิเทศภายใน และแบบตรวจผลงาน ค่าสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพและปัญหาในการทำวิจัยในชั้นเรียนของโรงเรียนเทศบาลเมืองขลุง ๒ ดังนี้
1.1 สภาพการทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า ครูส่วนใหญ่ยังรายงานการวิจัยในชั้นเรียน ไม่เป็นทางการ ไม่เข้าใจขั้นตอนการเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน และไม่มีการเผยแพร่ผลงานการวิจัยอย่างกว้างขวาง
1.2 ปัญหาการทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า ครูส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการทำวิจัยในชั้นเรียน
2. แนวทางในการพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองขลุง ๒ มี 2 แนวทาง คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน
3. ผลจากการพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองขลุง ๒ สังกัดเทศบาลเมืองขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พบว่า
3.1 กลุ่มผู้ร่วมวิจัย มีศักยภาพในการทำวิจัยในชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น พิจาณาจากผลการประเมินก่อนการอบรมเชิงปฏิบัติการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.81 คิดเป็นร้อยละ 49.31 และผลการประเมินหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 24.59 คิดเป็นร้อยละ 81.96 จึงมีค่าร้อยละความก้าวหน้าเฉลี่ย เท่ากับ 33.06
3.2 กลุ่มผู้ร่วมวิจัยสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้ทุกคน ๆ ละ 1 เรื่อง รวม 27 เรื่อง
ผู้ร่วมวิจัยมีศักยภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น