งานวิจัย เรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง พาราโบลา โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องพาราโบลาโดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra เรื่อง พาราโบลา ซึ่งเปรียบเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 70
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 40 คน ของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
1. แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra เรื่อง พาราโบลา (ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะ)
2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน เรื่อง พาราโบลา
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องพาราโบลา ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังจากที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra เรื่อง พาราโบลา สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คิดเป็นร้อยละ 78.63
ข้อเสนอแนะ
1. การใช้โปรแกรม Geogebra ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูผู้สอนต้องฝึกทำจนชำนาญก่อนนำไปใช้ เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้แบบค้นพบจำเป็นต้องใช้เวลามากในการเรียนรู้ และครูผู้สอนจะเป็นผู้แนะแนวทางให้ผู้เรียนก่อนฝึกปฏิบัติเพียงเล็กน้อย จากนั้นให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเองหากเกิดปัญหาผู้สอนจะต้องแก้ปัญหาหรือชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาได้ทันที เพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมต่อไป และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การจัดการเรียนการสอนควรมีอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนในห้องเรียนเพื่อให้นักเรียน
ทุกคนได้ฝึกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การจัดการเรียนการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้แบบค้นพบด้วยโปรแกรม Geogebra ครูผู้สอนต้องไม่เร่งรีบเนื่องจากการสอนลักษณะนี้ต้องใช้เวลามากเพื่อให้นักเรียนสังเกต ทดลอง และหาข้อสรุปด้วยตนเอง