ชื่อเรื่อง การวิจัยประเมินผลโครงการโรงเรียนสีขาวต้านยาเสพติดและอบายมุข
โรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม
ผู้วิจัย พงศ์วิพัฒน์ เจริญพล
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยประเมินผลโครงการโรงเรียนสีขาวต้านยาเสพติดและอบายมุขโรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบูรณ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ศึกษาสถานการณ์การดำเนินโครงการโรงเรียนสีขาวโรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบูรณ์
2) ประเมินผลการดำเนินโครงการประเมินผลโครงการโรงเรียนสีขาวต้านยาเสพติดและอบายมุขโรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบูรณ์
3) นำเสนอแนวทางการพัฒนายกระดับโครงการโรงเรียนสีขาวต้านยาเสพติดและอบายมุข เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี การวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ
ผู้บริหาร ครู และนักเรียนของโรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม ปีการศึกษา 2565 ใช้วิธีการสุ่ม อย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ โดยมีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.31 ถึง 0.69 และมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม ทั้งฉบับเท่ากับ 0.95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม เครื่องมือได้แก่แบบสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 12 คน และแบบสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 6 คน เป็นการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ตรวจสอบด้วยเทคนิคสามเส้า และนำเสนอเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
1) สถานการณ์การดำเนินโครงการโรงเรียนสีขาวโรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม พบว่า บริบทของสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท
ปัจจัยเสี่ยงของพื้นที่คือการปฏิสัมพันธ์ของชุมชนเปิดกว้างส่งผลให้มีการแพร่ขยายของสิ่งเสพติดในเด็กและเยาวชน การสื่อสารที่เป็นไปอย่างง่ายมีอิทธิพลต่อการชักจูงให้เด็กและเยาวชนหลงผิดได้ง่าย จุดแข็งของสถานศึกษาคือการมีโครงการที่ต่อเนื่อง มีการกำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดผู้รับผิดชอบ การ
ดำเนินงาน และการติดตามประเมินผลอย่างชัดเจน
2) การประเมินผลการดำเนินโครงการประเมินผลโครงการโรงเรียนสีขาวต้านยาเสพติดและอบายมุขโรงเรียนนาเฉลียงพิทยาคม พบว่า (1) ด้านปัจจัยนำเข้ามีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานในระดับมาก ปัจจัยสำคัญคือผู้บริหารที่เห็นความสำคัญ การมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและภาคเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง(2) ด้านการดำเนินการมีความพึงพอใจในระดับมาก จุดเด่นที่สำคัญคือการวางแผนการขับเคลื่อนโครงการตามกระบวนการPDCA และการการขยายผลอย่างต่อเนื่อง และ (3) ด้านผลผลิตพบว่า มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก
3) นำเสนอแนวทางการพัฒนายกระดับโครงการโรงเรียนสีขาวต้านยาเสพติดและอบายมุข พบว่า สถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเริ่มจาก(1) ประเมินความต้องการจำเป็นให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา (2) บูรณาการเข้ากับกิจกรรมของสถานศึกษา (3) สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้นักเรียนมีบทบาท (4) ติดตามประเมินแบบเสริมพลัง และ (5) การสื่อสารเชิงบวก กลไกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ(1) กระบวนการวางแผน (2) การดำเนินการ (3) การตรวจสอบ และ (4) การปรับปรุงแก้ไขตามสถานการณ์ โดยอิงบริบทของสถานศึกษาเป็นฐานในการดำเนินโครงการ
คำสำคัญ: การวิจัยประเมินผล, โครงการโรงเรียนสีขาว, ยาเสพติดและอบายมุข