ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามเทคนิค K-W-D-L โดยใช้กระบวนการร่วมมือแบบเพื่อนคู่คิด THINK PAIR SHARE เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางอรอนงค์ เพ็ชรเพ็ง
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านทุ่งเลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามเทคนิค K-W-D-L โดยใช้กระบวนการร่วมมือแบบเพื่อนคู่คิด THINK PAIR SHARE เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพและข้อมูลพื้นฐานในการจัด การเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามเทคนิค K-W-D-L โดยใช้กระบวนการร่วมมือแบบเพื่อนคู่คิด THINK PAIR SHARE เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model ที่พัฒนาขึ้น และ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การศึกษาบริบทปัญหาพื้นฐาน แนวคิดเกี่ยวกับเทคนิค K-W-D-L และกระบวนการร่วมมือแบบเพื่อนคู่คิด THINK PAIR SHARE สังเคราะห์ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามเทคนิค K-W-D-L โดยใช้กระบวนการร่วมมือแบบเพื่อนคู่คิด THINK PAIR SHARE เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ เรียกว่า STEPE Model ตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และส่วนที่ 2 ประเมินรูปแบบด้วยการวิจัยและพัฒนา นำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในชั้นเรียน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนบ้านทุ่งเลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 จำนวน 13 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย การคำนวณค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ค่าร้อยละ (P) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( ) และการหาค่าความสอดคล้อง (IOC)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน พบว่า ควรปรับปรุงด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากมีนักเรียนอ่านหนังสือไม่คล่อง จึงเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ควรส่งเสริมนักเรียนโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามเทคนิค K-W-D-L โดยใช้กระบวนการร่วมมือแบบเพื่อนคู่คิด THINK PAIR SHARE เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง นักเรียนสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน นักเรียนวางแผนการทำงาน คิดแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ครูผู้สอนเป็นผู้เสนอแนะแนวทางการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านเนื้อหาเพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา เรียกว่า การจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model มีองค์ประกอบหลัก คือ 1) หลักการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 2) จุดมุ่งหมายของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) เนื้อหาที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ 4) กระบวนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เรียนรู้ด้วยตนเอง (S) ขั้นที่ 2 เติมเต็มด้วยกลุ่ม (T) ขั้นที่ 3 รวมกลุ่มอภิปราย (E) ขั้นที่ 4 ขยายความด้วยครู (P) และขั้นที่ 5 พรั่งพรูด้วยทักษะ (E) 5) การวัดและประเมินผลของรูปแบบการจัด การเรียนรู้ และ 6) ปัจจัยสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ผลจากการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน ได้ค่าความเหมาะสมสอดคล้องมีค่าเฉลี่ย ( ) ตั้งแต่ 4.00 - 5.00 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( ) ตั้งแต่ 0.00 - 0.55 ซึ่งแสดงว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model ที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมและสอดคล้องเชิงโครงสร้าง สามารถนำไปทดลองใช้ได้และผลการหาประสิทธิภาพ (E1/E2) ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยภาพรวม เท่ากับ 84.12/84.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
3. ผลของการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น พบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านทุ่งเลน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงขึ้น โดยมีค่าประสิทธิภาพ เท่ากับ 84.12/84.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ซึ่งอยู่ในระดับสูงมากและสูงกว่าก่อนเรียนโดยมีผลต่างของร้อยละ เท่ากับ 31.28 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ และความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model โดยรวม อยู่ในระดับพึงพอใจมาก ( = 4.43, = 0.70)
4. ผลการประเมินและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีผลการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา เรื่อง การคูณ หลังเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model สูงกว่าก่อนเรียนโดยมีผลต่างของร้อยละ เท่ากับ 31.28 และผลจากครูผู้สอนคณิตศาสตร์ที่นำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ STEPE Model ไปใช้ มีผลการประเมินระดับมากที่สุด