สภาพปัญหาของผู้เรียนและการจัดการเรียนรู้
เนื่องด้วยผู้จัดทำข้อตกลงได้รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่1 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยแตกต่างจากเด็กในระดับประถมศึกษากล่าว คือ เด็กปฐมวัยยังเป็นวัยเด็กเล็กที่มีการหยิบจับสิ่งใดไม่คล่องตัว กล้ามเนื้อต้องการสร้างเสริมความแข็งแรง เด็กต้องการการแสดงออก การเล่นต้องใช้อุปกรณ์เข้าช่วยพัฒนาการที่สำคัญตามวัย คือ การรู้จักขอบเขตของตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เด็กจะชอบเล่นมากเป็นโลกแห่งสังคมเด็ก โดยเฉพาะการเล่นที่ต้องมีการแข่งขัน เช่น การเล่นเกมซึ่งการเล่นเกมจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์และการต่อรองที่ดี เด็กสามารถเรียนรู้สภาวะร่างกาย กิจกรรมทางสังคม กฎ และบทบาทของตนในการเล่นเกม ในการจัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่นั้นสิ่งที่ครูปฐมวัยต้องตระหนักเสมอ คือ การกระทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมที่ให้เด็กกระทำให้มากที่สุด โดยไม่มีการสอนอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการบรรยายหรือการสั่งสอนที่ครูมักจะเคยชิน เด็กเล็กเป็นสิ่งที่ต้องให้การเรียนรู้แบบแทรกซึม เพราะร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ โอกาสสำหรับฝึกทักษะในการเดิน การทรงตัว การมีบุคลิกภาพที่ดีและการบริหารกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้ การส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กปฐมวัยถือเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของครู ที่ จะต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัย มีพัฒนาทางด้านร่างกายที่แข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แล้วพัฒนาการด้านอื่น ๆ จะสมบูรณ์ตามไปด้วยพัฒนาการทางด้านร่างกาย ประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดใหญ่สามารถประเมินได้จากพฤติกรรมการยืน การเดิน การวิ่ง การกระโดด การโยนและการเตะลูกบอล ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กประเมินได้จากพฤติกรรมการร้อย การตัดกระดาษ การวาดภาพอย่างอิสระ เป็นต้น เด็กที่มีพัฒนาการทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กสมบูรณ์ตามวัย สามารถเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ช่วยตัวเองในการบังคับและควบคุมกล้ามเนื้อได้หลาย ๆ อย่าง เช่น การกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง เขย่งปลายเท้า ยืนขาเดียว เรียนรู้การออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การส่งเสริมพัฒนาด้านร่างกายนั้นสามารถกระทำได้หลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ และกิจกรรมสร้างสรรค์ เนื่องด้วยกิจกรรมดังกล่าว สอดคล้องกับพัฒนาการและความสนใจของเด็กเพราะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากเล่น การนำการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้กับเด็กเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและเหมาะสมกับวัยของเด็ก การละเล่นพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กสนุกสนานเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียด และทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อม และเป็นกระบวนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย เป็นการเสริมสร้างพัฒนากล้ามเนื้อแข็งแรงและคล่องแคล่วว่องไว ด้านอารมณ์และสังคม การเล่นสอนให้เด็กมีเหตุผล รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักกติกาในสังคม รู้จักแบ่งปัน ทำให้เด็กมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น นอกจากนั้นการเล่นยังทำให้เด็กมีอารมณ์แจ่มใส รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองด้านสติปัญญา การเล่นทำให้เด็กมีโอกาส แสดงความคิดตามสภาพแวดล้อม มีโอกาสแสดงออก เรียนรู้ที่จะใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และส่งเสริมให้เกิดจิตนาการ จากเหตุผลดังกล่าว คุณครูจึงสนใจศึกษาการจัดกิจกรรมกลางแจ้งพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กโดยใช้การละเล่นพื้นบ้านไทยของเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะทางด้านร่างกาย
2. วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล
2.1 วิเคราะห์หลักสูตรศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 และหลักสูตรสถานศึกษา พุทธศักราช 2565 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2564 ) มาตรฐานที่ 2 กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรงใช้ได้อย่าคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน ตัวบ่งชี้ที่ 2.1) เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว และเคลื่อนไหวได้ดีตัวบ่งชี้ที่ 2.2)ใช้มือตาประสานสัมพันธ์กัน
2.2 ปรับปรุงหน่วยการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และแผนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริม ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนมีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้
1. แผนการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านจำนวน 10 กิจกรรม กิจกรรมละ 40 นาที ซึ่งมีลำดับขั้นตอนการสร้างและคุณภาพ ดังนี้
1.1 ศึกษาคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 2-6 ปี เรื่อง ตัวอย่างแผนการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัย พุทธศักราช 2560
1.2 สร้างแผนการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านโดยเลือกกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ที่มีความเหมาะสม และพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กของเด็กปฐมวัยจำนวน 10 แผน โดยกำหนดชื่อกิจกรรม จุดประสงค์ การดำเนินกิจกรรม วัสดุและอุปกรณ์ ดังต่อไปนี้
1.3.1 ชื่อกิจกรรมของเกมการละเล่นพื้นบ้านไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ระบุกิจกรรมที่นำมาจัด จำนวน 10 กิจกรรม
1.3.2 จุดประสงค์การเรียนรู้
- เพื่อพัฒนาการทำงานของกล้ามเนื้อมือ แขน-ขาและความสัมพันธ์ของการประสานงานกับ การมองเห็น
- เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง
- เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อลำตัว
- เพื่อพัฒนาความสามารถในการทรงตัว
1.3.3 วัสดุและอุปกรณ์ อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยมีความปลอดภัย
1.3.4 การดำเนินกิจกรรม มี 3 ขั้น ดังนี้
1) ขั้นนำ นำเข้าสู่กิจกรรมโดยการให้เด็กได้อบอุ่นร่างกาย เช่น
- เอียงคอไปข้างซ้าย/ข้างขวา นับ 1-10 ครั้ง
- แหงนคอไปข้างบน/ข้างล่าง นับ 1-10 ครั้ง
- กระโดดตบ นับ 1-10 ครั้ง เป็นต้น
2) ขั้นดำเนินการ ครูและเด็กร่วมกันกำหนดเงื่อนไข สร้างข้อตกลงในการเล่นกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทย ครูแนะนำอุปกรณ์และวิธีการเล่นพร้อมทั้งสาธิตวิธีการเล่นให้เด็กได้ดู ครูมีบทบาทดูแลเด็กในขณะที่เด็กทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิดและให้เด็กทำกิจกรมมอย่างถูกวิธีและทำตามกติกา เมื่อเด็กทำเสร็จแล้ว ครูให้เด็กผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยตัวอย่างเช่น เอามือประสานไว้บนศีรษะ ยืนตัวตรงกางขาออกเอามือจับที่เอวแล้วเอนตัวไปด้านหลัง เป็นต้น
3) ขั้นสรุป ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปกิจกรรม โดยใช้ตัวอย่างคำถาม ดังนี้
- กิจกรรมการละเล่นที่เด็ก ๆ ทำไปเมื่อสักครู่ มีชื่อว่ากิจกรรมอะไรคะ
- มีวิธีการเล่นอย่างไร ใครพอจะจำได้บ้างคะ
- ถ้าเด็ก ๆ ทำกิจกรรมโดยไม่ระวังจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น
2. แบบประเมินพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย การสร้างและการตรวจสอบคุณภาพแบบประเมินพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อ มัดเล็ก ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
2.1 สร้างแบบประเมินความสามารถใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กของเด็กปฐมวัย จำนวน 30 ข้อ โดยแบ่งเป็น 5 ทักษะ ดังนี้
2.2.1 ทักษะการนั่งและยืน จำนวน 6 ข้อ
2.2.2 ทักษะการเดิน จำนวน 6 ข้อ
2.2.3 ทักษะการวิ่ง จำนวน 6 ข้อ
2.2.4 ทักษะหยิบและจับ จำนวน 6 ข้อ
2.2.5 ทักษะการกระโดด จำนวน 6 ข้อ
2.2 เกณฑ์การให้คะแนนแบบประเมินพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก ของเด็กปฐมวัย มีดังนี้
2.2.1 แบบประเมินพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กของเด็กปฐมวัย จำนวน 30 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน รวม 30 คะแนน
- เด็กสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ถูกต้องให้ 1 คะแนน
- เด็กไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ได้ถูกต้องให้ 0 คะแนน
2.2.2 ระดับคะแนนแบบประเมินพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กของเด็กปฐมวัย มีดังนี้
- คะแนน 0 - 5 หมายถึง ปรับปรุง
- คะแนน 6 - 15 หมายถึง พอใช้
- คะแนน 15 - 25 หมายถึง ดี
- คะแนน 26 - 30 หมายถึง ดีมาก
2.3 สร้างคู่มือในการดำเนินการสร้างแบบประเมินพัฒนาความสามารถกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กของเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับแบบประเมิน
2.4 เปิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยร่วมกับครูปฐมวัย ร่วมกันออกแบบกิจกรรมการศึกษาที่เหมาะกับผู้เรียน และเข้าไปสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องในเนื้อหา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการเรียนการสอน การจัดการชั้นเรียน แบบสังเกตพฤติกรรม พร้อมทั้งเสนอแนะ และสะท้อนผลการจัดกิจกรรมเพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไขให้ผู้เรียนเกิดทักษะด้านร่างกาย ให้เหมาะสมกับบริบท ผู้เรียน และสถานศึกษา
2.5 ครูผู้สอนนำกิจกรรมมาปรับปรุง แก้ไขตามคำแนะนำของคณะครูปฐมวัย
2.6 ครูผู้สอนสร้างแบบบันทึกความสามารถในการใช้พัฒนาทักษะทางด้านร่างกายของเด็กปฐมวัยและแบบบันทึกการปฏิบัติกิจกรรม โดยตรวจสอบความถูกต้องจากสมาชิกกลุ่ม PLC และปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของสมาชิกกลุ่ม PLC
2.7 จัดกิจกรรมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ด้วยการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทย
2.8 บันทึกผลการเรียนรู้ของสรุปสารสนเทศของผู้เรียน หากพบผู้เรียนที่ไม่ผ่านการพัฒนา ให้ได้รับการพัฒนาจนกว่าผู้เรียนจะผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
2.9 สอบถามความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองในการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม
3. ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง
3.1 ผลลัพธ์เชิงปริมาณ
1) เด็กชั้นอนุบาลปีที่1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล้กบ้านปากยาง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กได้ดีขึ้น
3.2 ผลลัพธ์เชิงคุณภาพ
1) การละเล่นพื้นบ้านไทยที่ได้นำมาใช้กับเด็กปฐมวัยส่งผลให้ชั้นอนุบาลปีที่1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล้กบ้านปากยาง มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กได้ดีขึ้น