บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เพื่อสร้างรูปแบบ เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบ และเพื่อประเมินรูปแบบการบริหารความร่วมมือพหุภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำมิน โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน จากแหล่งข้อมูลด้านเอกสาร ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมจำนวน 25 คน สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา จำนวน 7 คน และ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวทางการบริหารความร่วมมือพหุภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา จำนวน 5 คน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบ โดยยกร่างรูปแบบและจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบ ตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบ พร้อมแก้ไขปรับปรุง โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบ โดยผู้ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำรูปแบบไปปฏิบัติจริง รวม 25 คน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบโดยครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนผู้ปกครองนักเรียน ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนผู้ประกอบการในท้องถิ่น และผู้แทนพหุภาคีโรงเรียนบ้านน้ำมิน รวมจำนวน 35 คน ในปีการศึกษา 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสรุปข้อมูล แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง แบบประเมิน และแบบสะท้อนผล วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เนื้อหาและสรุปข้อมูล
ผลการวิจัย สรุปได้ว่า
1. จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สรุปได้ว่า รูปแบบการบริหารความร่วมมือพหุภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำมิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 ใช้ความเชื่อพื้นฐานและหลักการที่นำไปสู่การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพัฒนาทักษะกระบวนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้พหุภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมดำเนินการจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน โดยใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อปรับปรุงการจัดการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ ทั้งนี้ในการบริหารความร่วมมือพหุภาคีควรมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายการทำงานร่วมกัน การระดมทรัพยากรมาใช้ได้อย่างเพียงพอ การสร้างแรงจูงใจและสร้างเสริมพลังความร่วมมือ และการรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกเครือข่าย
2. รูปแบบการบริหารความร่วมมือพหุภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำมิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 พบว่า มี 7 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขอบเขตความร่วมมือ 4) กลไกความร่วมมือของพหุภาคี 5) กระบวนการบริหารความร่วมมือพหุภาคี 6) การประเมินผล 7) เงื่อนไขความสำเร็จ โดยกระบวนการบริหารความร่วมมือพหุภาคี มี 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ทบทวนพันธกิจและรวบรวมประเด็นปัญหา ขั้นที่ 2 วางแผนพัฒนาความร่วมมือ ขั้นที่ 3 สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ขั้นที่ 4 ดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือ ขั้นที่ 5 ติดตามและประเมินผลความร่วมมือ ขั้นที่ 6 ร่วมรับผลประโยชน์จากความร่วมมือ และรูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารความร่วมมือพหุภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำมิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 สรุปได้ดังนี้
3.1 ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุมชน/ภาคประชาสังคม เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน ให้ความความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ด้านองค์ความหรือบุคลากร ด้านวัสดุอุปกรณ์ และด้านอื่นๆ ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนบ้านน้ำมินในระดับมาก
3.2 โรงเรียนบ้านน้ำมินมีการปฏิบัติด้านการจัดเตรียมปัจจัยบริหาร ด้านการจัดพื้นที่ฐานการเรียนรู้ ด้านการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ด้านการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ และด้านการติดตามและประเมินผล ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักเรียน จำนวน 9 ฐานการเรียนรู้ โดยแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ คือ ภาพกิจกรรม
3.3 ผลการประเมินทักษะกระบวนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของนักเรียน โรงเรียนบ้านน้ำมิน โดยรวม พบว่า นักเรียนร้อยละ 96.65 มีทักษะกระบวนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับดีขึ้นไป ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
3.4 ผลการประเมินคุณลักษณะที่ดีและค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำมิน พบว่า นักเรียนมีคุณลักษณะที่ดีและค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ในระดับดีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 75.35 ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารความร่วมมือพหุภาคีเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนบ้านน้ำมิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 สรุปได้ว่า รูปแบบโดยรวมมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเหมะสม และความถูกต้องอยู่ในระดับมากที่สุด