การรายงานการประเมินโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๙ (บ้านร่องส้าน) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อประเมินโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมด้านบริบท ๒) เพื่อประเมินโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมด้านปัจจัยนำเข้า ๓) เพื่อประเมินโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมด้านกระบวนการ และ ๔) เพื่อประเมินโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมด้านผลผลิต ในปีการศึกษา ๒๕๖๕ ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๙ (บ้านร่องส้าน) ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ในระดับชั้นอนุบาล ๒ - ๓ จำนวน ๓๘ คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ๖ จำนวน ๓๖๘ คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ จำนวน ๑๕๘ คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน ๑ คน รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน ๑ คน ครู จำนวน ๓๑ คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๑๔ คน รวมทั้งสิ้น ๖๑๑ คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน ๔๐๒ คน ประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๙ (บ้านร่องส้าน) ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ จำนวน ๑๙๘ คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปที่ ๑ - ๓ จำนวน ๑๕๘ คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน ๑ คน ครู จำนวน ๓๑ คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๑๔ คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามแบบมาตรส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ จำนวน ๕ ฉบับ แบบทดสอบความรู้ด้านการจัดการขยะ จำนวน ๑ ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
๑. การประเมินด้านบริบท พบว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่าโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสมในการดำเนินการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า โครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้บริหาร ครู นักเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
๒. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่าปัจจัยนำเข้าของโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า โรงเรียนมีการแต่งตั้งบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ บุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินการโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเหมาะสมและเพียงพอในการดำเนินโครงการ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
๓. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินโครงการ พบว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมตามโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมทุกกิจกรรมในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายกิจกรรม พบว่า กิจกรรมการจัดทำนโยบาย ระเบียบ/ข้อตกลง มีการดำเนินการในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ กิจกรรมการปลูกผักปลอดสารเคมี และกิจกรรมการบำบัดน้ำเสียจากอ่างล้างจานมี ค่าเฉลี่ยในภาพรวมน้อยที่สุด
๔. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า
๔.๑ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่าผลผลิตของการดำเนินการตามโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมทุกกิจกรรมในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า นักเรียนสามารถแยกขยะก่อนทิ้งและทิ้งขยะลงในถังที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ นักเรียนมีวินัยในการจัดการขยะในโรงเรียน และนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะด้วยหลักการ 3Rs มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
๔.๒ ผลการทดสอบความเข้าใจด้านจัดการขยะของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการขยะสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ ๖๐ การประเมินพฤติกรรมการจัดการขยะในโรงเรียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมการจัดการขยะได้ถูกต้อง เหมาะสมในภาพรวมระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า นักเรียนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมการคัดแยกขยะของโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ นักเรียนทานอาหารจนหมดจาน และนักเรียนนำขยะประเภทขยะเปียก เช่นเศษอาหาร มาทำน้ำหมักชีวภาพ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
๔.๓ ผลการประเมินความพึงพอใจของครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีต่อโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในภาพรวมครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า โครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมสามารถลดปริมาณขยะในโรงเรียนได้ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ โครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และ ท่านมีส่วนร่วมในการสนับสนุน เสนอแนะในการดำเนินการตามโครงการการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด